กกร. จับมือรัฐ เดินหน้า Ease of Doing Business ย้ำโลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศ
กกร. จับมือรัฐ เดินหน้า Ease of Doing Business ย้ำโลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศ
วันที่ 24 มกราคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย โดยในรอบนี้ ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เป็นประธานที่ประชุม เปิดเผยหลังจากประชุม กกร.ว่าทางภาคเอกชนได้มีการหารือกับ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน ว่า ปัจจุบันการดำเนินการปลดล็อกด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หรือ Regulatory Guillotine ที่ได้มีว่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศ มาถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแก่ TDRI มีความคืบหน้าไปอย่างมาก โดยคณะอนุกรรมการฯ รายงานว่า ในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา มีการดำเนินการขับเคลื่อนการปลดล็อกเสร็จแล้ว 424 กระบวนงาน และอยู่ระหว่างการดำเนินอีก 514 กระบวนงานโดยความคืบหน้าของผลสัมฤทธิ์ในการขับเคลื่อน แบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 กระบวนงานที่หน่วยงานดำเนินการแล้วเสร็จตามข้อเสนอ จำนวน 424 กระบวนงาน เช่น การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การกำกับดูแลโทรเวชกรรม (Telemedicine) และการปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและดัดแปลงอาคาร
กลุ่มที่ 2 กระบวนงานที่หน่วยงานเห็นชอบการดำเนินการตามข้อเสนอ อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จำนวน 136 กระบวนงาน เช่น การปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับอาคารที่อาจใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม และการยกเลิกการควบคุมการนำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติและเครื่องทำน้ำร้อน
กลุ่มที่ 3 กระบวนงานเชิงการปรับปรุงหลักการและโครงสร้างของกฎหมายที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน โดยคณะอนุกรรมการฯ หรือคณะกรรมการอื่น จำนวน 378 กระบวนงาน เช่น การจ้างงานคนต่างด้าวและสวัสดิการแรงงานต่างด้าว และการส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มที่ 4 กระบวนงานที่แนวทางการดำเนินการของหน่วยงานยังไม่ชัดเจน จำนวน 58 กระบวนงาน เช่น การปรับลดเอกสารในการจดทะเบียนอาคารชุดและนิติบุคคลอาคารชุด และการส่งเสริมสวัสดิการและส่งเสริมอาชีพสำหรับผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ
กลุ่มที่ 5 กระบวนงานที่มีข้อมูลไม่เพียงพอในการพิจารณาและอยู่ระหว่างการขอข้อมูล หรือต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม จำนวน 98 กระบวนงาน เช่น การประกอบกิจการสถานพยาบาล และ การประกอบกิจการท่าเรือเดินทะเล
ทั้งนี้ ภาคเอกชนขอเสนอให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานเฉพาะเจาะจงมารับผิดชอบในการปฏิรูปกฎหมายล้าสมัย โดยมีจำนวนกำลังพลและงบประมาณที่เหมาะสม และทำงานเต็มเวลาในการนำวิธีการ Regulatory Guillotine มาใช้ในการปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีผลงานขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายต่าง ๆ เพื่อลดภาระที่ไม่จำเป็นของประชาชน และเพื่อลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเป็นจำนวนมาก เช่น แก้ไขเรื่องอัตราดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัด และเรื่องการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ (ส่วนราชการติดต่อสั่งการกันทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และประชาชนสามารถติดต่อรวมทั้งส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ส่วนราชการได้)
กกร.จึงทำข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและการประกอบอาชีพของประชาชน เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวนกว่า 40 ข้อเสนอ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้นำเสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าวแล้ว กกร. จะติดตามสนับสนุนคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้สำเร็จโดยเร็ว
กกร. เห็นว่ามี 5 เรื่องเร่งด่วนจากข้อเสนอดังกล่าวที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ดังนี้
1) ปรับปรุงกฎหมายบริษัทเพื่อส่งเสริมให้ SMEs และ Startup สามารถระดมทุน และดึงดูดคนมีความสามารถมาสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น แก้ไขเรื่องการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ การออกหุ้นให้พนักงาน (ESOP) รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับวีซ่า และ work permit ของต่างชาติที่จะสร้าง startup
2) ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับคนเข้าเมืองและการทำงานของคนต่างด้าวให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศ รวมทั้งเอื้ออำนวยให้คนต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถได้เข้ามาสร้าง startup และนวัตกรรมในประเทศได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขประเภทของวีซ่าและขั้นตอนการควบคุมตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน
3) ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว (โรงแรม สถานบริการ มัคคุเทศก์) ให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ homestay long-stay
4) ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจ และตัดปัญหาอุปสรรคต่างๆ
5) ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลการค้าของเก่า ในส่วนที่เกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ (reuse and recycle) เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการภาวะโลกร้อนและการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซค์
โดยทั้ง 5 ข้อเป็นเรื่องที่กระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีสินค้าของไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
“ภาคเอกชนต้องขอชื่นชมหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งที่ได้มีการเร่งปรับปรุงกฎ ระเบียบ และการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ให้มีความทันสมัยและรวดรวดยิ่งขึ้น โดยอยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำรางวัลผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและหน่วยงานที่มีความโดดเด่นด้านการอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจในรูปแบบเช่นเดียวกับรางวัลเลิศรัฐ โดยจะใช้เกณฑ์และมาตรฐานในการประเมินตัดสินจากภาคธุรกิจ ซึ่งจะสะท้อนการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจและการแก้ไขกฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย (EoDB / Guillotine) อย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นการให้กำลังใจและเชิดชูหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ” นายสนั่น กล่าว
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH