4 ภาคี “กรมเจ้าท่า-สวทช.-บ้านปูเน็กซ์-สกุลฎ์ซี” ลงนามความร่วมมือ ผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกในไทย

4 ภาคี “กรมเจ้าท่า-สวทช.-บ้านปูเน็กซ์-สกุลฎ์ซี” เซ็น MOU ผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกในไทย

อัปเดตล่าสุด 27 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 649 Reads   

4 ภาคีจากภาครัฐ และเอกชน กรมเจ้าท่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บ้านปูเน็กซ์ บริษัทลูกของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ผนึกความร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลงด้าน ‘การพัฒนาการออกแบบ การผลิต และมาตรฐาน สำหรับเรือไฟฟ้าที่มีคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำ และส่งเสริมการพาณิชยนาวี’ โดยมีวัตถุประสงค์ในการร่วมยกระดับมาตรฐานการผลิตเรือไฟฟ้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งระดับประเทศ และนานาชาติ นำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้าให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน เล็งเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เรือไฟฟ้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ซึ่งไม่เพียงช่วยประหยัดพลังงาน ยังช่วยลดมลพิษทางน้ำ และทางอากาศในระยะยาว อีกทั้งมีส่วนช่วยคืนความยั่งยืนให้ระบบนิเวศทางน้ำ ตลอดจนช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน และนักท่องเที่ยว โดยเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทยภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ เพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า “กรมเจ้าท่าเป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแล ส่งเสริมพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ และการพาณิชยนาวีให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และปลอดภัย ตลอดจน เป็นผู้กำกับมาตรฐาน และทิศทางการพัฒนาเรือไฟฟ้าในประเทศ

อีกทั้งให้คำแนะนำแก่ภาคเอกชนเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีการประกอบสมัยใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของทางราชการ ร่วมพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีของระบบไฟฟ้า และทบทวนหลักเกณฑ์ข้อกำหนด เงื่อนไข กฎหมาย ในการตรวจเรือไฟฟ้า ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะนำมาใช้ ดังนั้น ความร่วมมือการพัฒนาการผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทยในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานระบบการขนส่งทางน้ำ และการพาณิชยนาวีของประเทศไทยให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม”
 
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. ได้ดำเนินงานกิจกรรมด้านยานพาหนะไฟฟ้ามามากกว่า 10 ปี โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่พร้อมระบบส่วนควบ เช่น BMS ระบบระบายความร้อน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) เพื่อรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง ขณะเดียวกัน สวทช. ยังเดินหน้าวิจัย และพัฒนามอเตอร์พร้อมระบบควบคุม โดยมองหาเทคโนโลยีมอเตอร์แบบใหม่ ๆ ที่เหมาะสำหรับการผลิตในประเทศ ระบบ IoT ระบบสมาร์ท รวมถึงการออกแบบ และวิเคราะห์โครงสร้างต่าง ๆ สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าที่ต้องมีน้ำหนักเบา

 

เพื่อลดการใช้พลังงาน และมีความปลอดภัยสูง ซึ่ง สวทช. มีทีมวิจัยจาก ศูนยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ที่มีประสบการณ์ในการพัฒนามาตรฐาน การทดสอบ และการรับรองผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมมากมาย อาทิ การออกมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับยานพาหนะไฟฟ้า และเทคโนโลยี IoT เช่น มาตรฐานด้านเต้ารับเต้าเสียบ สถานีอัดประจุต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่ง สวทช. จะนำจุดแข็งเหล่านี้มาร่วมส่งเสริมการทำงานภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้าในไทยได้อย่างยั่งยืน”
 
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า “บ้านปูเน็กซ์ บริษัทลูกของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการพลังงานสะอาดชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสานต่อกลยุทธ์ Greener & Smarter ของกลุ่มบ้านปูฯ อย่างต่อเนื่อง นำนวัตกรรมความรู้ความเชี่ยวชาญมาสนับสนุนการพัฒนาและผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้า (e-Ferry) ลำแรกของประเทศไทย ในด้านงบประมาณการพัฒนาเรือ และนำโซลูชันด้านเทคโนโลยีพลังงานที่หลากหลาย ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มาใช้ในการพัฒนาการผลิต ได้แก่ นำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (LiB) ศักยภาพสูงซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญ ที่บริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เราได้เข้าไปร่วมลงทุน ได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าโดยเฉพาะ และจัดหาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเรือไฟฟ้า พร้อมกันนี้ยังนำเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ทันสมัยอย่างระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) ใช้ในการควบคุมการกักเก็บ การชาร์จไฟ และการใช้พลังงานให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งระบบนี้สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ และตรวจสอบ เพื่อวางแผนการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) เพื่อให้เรือทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เราเชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยยกระดับการคมนาคมทางน้ำ ร่วมส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน สังคม และนักท่องเที่ยว”
 
นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานกรรมการบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า สกุลฎ์ซีฯ ศึกษาเรือไฟฟ้าร่วมกับ สวทช.มาหลายปี ซึ่งตัวเรือที่เราพัฒนาสามารถรองรับการติดตั้งระบบไฟฟ้าได้โดยตรง แต่เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในหลายด้านที่เป็นส่วนประกอบอื่น ๆ รวมถึงระบบไฟฟ้าที่ยังตอบตลาดได้ไม่ชัดเจน เช่น การใช้แบตเตอรี่ ความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย การรับประกัน ระบบอัดประจุไฟฟ้า ราคาที่ทางภาคธุรกิจสามารถลงทุนได้ รวมถึงเรื่องข้อกำหนดและกฏระเบียบต่าง ๆ ที่ยังไม่ชัดเจน ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและใช้งานเรือก็ยังขาดองค์ความรู้และความเข้าใจ และไม่มีหน่วยงานใดที่จะให้คำตอบได้อย่างชัดเจน หลังจากที่เราได้มีความร่วมมือกับบริษัทบ้านปูฯ ที่มีนโยบายและทิศทางในการทำงานที่จริงจังในการพัฒนาพลังงานทางเลือก และมีการทำงานอย่างมืออาชีพเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการพลังงาน (EMS) ระบบชาร์จ รวมถึงเรื่องการรับประกัน อีกทั้งเรายังได้เข้าหารือกับท่านอธิบดีกรมเจ้าท่าเรื่องข้อกำหนดในการผลิตและการจดทะเบียนเรือ ซึ่งท่านได้ให้ความช่วยเหลือและแนะนำเป็นอย่างดีในการเรียกประชุมทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนปรับปรุงพัฒนาระบบ บุคลากร รูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน รวมถึงเชิญทาง สวทช. เข้ามาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าทุกด้าน สำหรับเรือไฟฟ้าที่ร่วมพัฒนากับบริษัทบ้านปูฯ ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปกว่า 90% แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบต่าง ๆ ให้มั่นใจที่สุด เนื่องจากเรือลำที่กำลังผลิตอยู่นี้ไม่ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อแสดงผลงานวิจัยหรือนำไปใช้เอง แต่ผลิตมาเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าที่มีการสั่งซื้อเข้ามาเพื่อนำไปให้บริการในทะเลภาคใต้ จึงต้องผ่านกระบวนการทดสอบมาตรฐานอย่างครบถ้วน ซึ่งเราหวังว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจเรือไฟฟ้าไทย”