บ้านปู เน็กซ์ - นิคมฯ เอเพ็กซ์ กรีน ใช้ Solar Floating ลดต้นทุนค่าไฟ ยกระดับสู่นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
“บ้านปู เน็กซ์” และ “นิคมฯ เอเพ็กซ์ กรีน” โชว์ศักยภาพนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ชูจุดเด่นใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์ลอยน้ำ (Solar Floating) พร้อมสาธารณูปโภคครบครัน ดึงนักลงทุนหนุน EEC
วันที่ 24 สิงหาคม 2565 บ้านปู เน็กซ์ และ เอเพ็กซ์ ปาร์ค ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์ กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท ร่วมมือยกระดับนิคมฯ เอเพ็กซ์ กรีน สู่นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตั้งเป้าเป็นต้นแบบนิคมฯ คาร์บอนต่ำและยั่งยืนที่สร้างคุณค่ารอบด้านให้กับนิคมฯ ผู้ประกอบการ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มีแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากโซลาร์ลอยน้ำที่ผู้ประกอบการสามารถซื้อไฟฟ้าไปใช้ในธุรกิจ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงมีเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานระดับเวิลด์คลาส พร้อมชูจุดเด่นตั้งบนทำเลยุทธศาสตร์ EEC
นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์ กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท ตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ในจังหวัดฉะเชิงเทรา และเป็นนิคมฯ ยุคใหม่ที่พร้อมรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทั้ง S-Curve และ New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตเครื่องกีฬา ผลิตของเล่น อุตสาหกรรมศูนย์บริการโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมมลภาวะ สารปนเปื้อน และของเสียต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ ภายในนิคมฯ จะมีโรงงานและคลังสินค้าสำเร็จรูปหลากหลายรูปแบบ พร้อมเทคโนโลยีและระบบสาธารณูปโภคระดับสากลที่ครบครัน มีระบบจัดการแบบ Smart City การคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ และมีไฮไลท์สำคัญ คือ การติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำขนาดใหญ่ โดยบ้านปู เน็กซ์ วางกำลังผลิตทั้งโครงการไว้ที่ 32 เมกะวัตต์
- บอร์ด กนอ. ไฟเขียวอนุมัติตั้งนิคม "เอเพ็กซ์กรีนฯ" ฉะเชิงเทรา ดึงลงทุน 6.4 หมื่นล้าน
- บ้านปู เน็กซ์ ผนึก เชิดชัยฯ-ดูราเพาเวอร์ ตั้งโรงงานแบตลิเธียมไอออนในไทย ลุยตลาดอีวีทั่วเอเชียแปซิฟิก
- โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ใหญ่สุดในโลก! จ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้ว
นายณัชฐปกรณ์ ดำเนินชาญวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเพ็กซ์ ปาร์ค จำกัด กล่าวว่า “สิ่งสำคัญของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่บริษัทยึดมั่นมาโดยตลอด คือ การทำธุรกิจให้อยู่ร่วมกันกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เราจึงนำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาพัฒนานิคมฯ เอเพ็กซ์ กรีน ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีในทุกมิติ และเตรียมติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำขนาดใหญ่บนพื้นที่บ่อน้ำขนาด 200 ไร่ ซึ่งเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จ นิคมฯ จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อไฟฟ้าไปใช้ได้ โดยจะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 18% สร้างความคุ้มค่าระยะยาวให้กับผู้ประกอบการที่มาลงทุนในนิคมฯ อีกทั้งสามารถนำไปต่อยอดเรื่อง Carbon Credit ในอนาคต ส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็น Smart Business ของผู้ประกอบการและสอดรับกับเมกะเทรนด์โลก นอกจากนี้ ทางนิคมฯ ยังเข้าร่วมโครงการกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งด้านภาษีและด้านอื่นๆ โดยผู้ประกอบการที่สนใจจองพื้นที่ในปีนี้เราจัดราคาพิเศษไว้ด้วย
บริษัทฯ ต้องการส่งมอบคุณค่าที่ดีในระยะยาวให้กับผู้ประกอบการและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เราจึงมองหาพาร์ทเนอร์ที่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้รอบด้าน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไว้วางใจบ้านปู เน็กซ์ คือ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของบ้านปู เน็กซ์ ในการดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และเป็นผู้ให้บริการติดตั้งระบบโซลาร์ทุกประเภทที่มีพอร์ตลูกค้าชั้นนำทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งโครงการโซลาร์ลอยน้ำในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จ.ระยอง เป็นโครงการต้นแบบที่ทำให้เราเห็นข้อดีของการนำพลังงานสะอาดมาใช้และตอบโจทย์รอบด้านให้ผู้ประกอบการในนิคมฯ ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ เรายังมีแผนจะนำระบบโซลาร์ของบ้านปู เน็กซ์ ไปต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจในเครือเอเพ็กซ์ ปาร์คด้วย”
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า “บ้านปู เน็กซ์ มุ่งมั่นนำเสนอโซลูชันพลังงานฉลาดเพื่อความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ บริษัท เอเพ็กซ์ ปาร์ค ไว้วางใจให้เป็นผู้ติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำในนิคมฯ เอเพ็กซ์ กรีน โดยความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือ ร่วมผลักดันนิคมฯ เอเพ็กซ์ กรีน สู่นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามแนวทางของนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รวมถึงสอดรับกับเมกะเทรนด์ด้านการพัฒนาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (SD) และหลัก ESG ที่ผู้ประกอบการทั่วโลกให้ความสำคัญ อีกทั้งยังเป็นการสร้างอนาคตพลังงานที่ยั่งยืนให้ประเทศไทย ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ของกลุ่มบ้านปูฯ
เรานำโจทย์เรื่องความยั่งยืนและการบริหารพื้นที่ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด มาออกแบบระบบโซลาร์ พร้อมมอบบริการที่ครบวงจร โดยจัดสรรพื้นที่บ่อน้ำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการเปลี่ยนให้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดและไม่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ โดยจะออกแบบทุ่นลอยและระบบแผงให้มีความยืดหยุ่น รองรับการสั่นสะเทือนที่อาจเกิดจากคลื่นน้ำ หรือกระแสลม ใช้แผงที่มีประสิทธิภาพการผลิตไฟสูง และผลิตไฟได้อย่างเสถียร ทนความชื้นและการกัดกร่อน ปลอดภัย คำนวณระยะติดตั้งอย่างเหมาะสม พร้อมเพิ่มความฉลาดให้ระบบด้วยการติดตั้งดิจิทัลแพลตฟอร์มและแดชบอร์ดที่ช่วยให้นิคมฯ มอนิเตอร์คุณภาพและระดับน้ำ รวมถึงการทำงานของระบบโซลาร์ได้แบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง และทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาทุกขั้นตอน
เราเชื่อว่าโครงการโซลาร์ลอยน้ำในนิคมฯ เอเพ็กซ์ กรีน สามารถสร้างคุณค่าและการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจของลูกค้า สังคม สิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนไปพร้อมกัน โดยคาดว่าตลอดอายุสัญญาติดตั้งโซลาร์ฯ 20 ปี นิคมฯ แห่งนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้ประมาณ 500,000 ตัน ขณะเดียวกันโครงการนี้ก็ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้พอร์ตธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน นอกจากการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำแล้ว เรามีแผนจะนำโซลูชันพลังงานฉลาดอื่นๆ เช่น แพลตฟอร์มการบริหารจัดการยานพาหนะไฟฟ้า ระบบการจัดการพลังงาน ระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ ฯลฯ ไปใช้ในนิคมฯ และธุรกิจในเครือเอเพ็กซ์ ปาร์ค สู่ Smart Business ในอนาคต” นายสินนท์ กล่าวสรุป
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH