“ไทยซับคอน” จับมือ “เอเอ็มอาร์ เอเซีย”เดินหน้าพัฒนาธุรกิจระบบจ่ายไฟเหนือหัว ในอุตสาหกรรมระบบราง

“ไทยซับคอน” จับมือ “เอเอ็มอาร์ เอเซีย” พัฒนาธุรกิจระบบจ่ายไฟเหนือหัว หนุนใช้ Local Contents ในอุตฯ ระบบราง

อัปเดตล่าสุด 27 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 744 Reads   

“ไทยซับคอน” จับมือ “เอเอ็มอาร์ เอเซีย”​ ลงนาม MOU ร่วมพัฒนาธุรกิจระบบจ่ายไฟเหนือหัว (OCS) ในอุตสาหกรรมระบบราง ชู Thai Team พัฒนาระบบรางรถไฟฟ้าไทย มั่นใจ "ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์" ในประเทศ ต่อยอดสู่ "ผู้ผลิตชิ้นส่วนระบบราง" ได้ หากรัฐผลักดันอย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย หรือ ไทยซับคอน (Thai Subcon)  ร่วมกับ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด ลงนามความร่วมมือเพื่อทำงานร่วมกันในการพัฒนาธุรกิจระบบจ่ายไฟเหนือหัว (Overhead Catenary System : OCS) ในอุตสาหกรรมระบบราง พร้อมผลักดัน Thai Team เพื่อพัฒนารถไฟฟ้าระบบรางโดยคนไทยเพื่อคนไทย ในงานแสดงสินค้า Rail Asia 2020 Expo & Conference ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มักกะสัน Expo Halls

นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon)

นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) เปิดเผยว่า สมาคมไทยซับคอนได้รวมกลุ่มบริษัทสมาชิกผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ทั้งชิ้นส่วนโลหะ ยาง พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ จำนวนมากกว่า 400 บริษัท โดยสมาชิกไทยซับคอนเป็นโรงงานมีความเชี่ยวชาญสูงในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สมาชิกเราพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบมาตรฐาน และการพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัย จนเป็นที่ยอมรับว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก จากความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผ่านมา สมาชิกหลายรายของสมาคมไทยซับคอนได้ต่อยอดมาสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ ในอุตสาหกรรมระบบราง ด้วยมาตรฐานและเทคโนโลยีการควบคุมคุณภาพการผลิตสากล และมั่นใจว่าถ้ารัฐบาลผลักดันให้เกิดการใช้อุปกรณ์ในประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางตามที่กำหนดเป็นนโยบายอย่างจริงจัง สมาคมไทยซับคอนก็มีความมั่นใจและขอยืนยันว่ากลุ่มผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตได้แน่นอน

นายเกียรติศักดิ์ กล่าวต่อว่า การลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาธุรกิจระบบจ่ายไฟเหนือหัว (OCS) ในวันนี้ จึงเป็นก้าวที่สำคัญและมีความหมายต่อสมาชิกผู้ประกอบการไทยในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมระบบรางของสมาคมฯ เป็นอย่างมากที่จะได้ร่วมมือกับ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคนไทย 100% ที่ดำเนินกิจการมากว่า 20 ปี และเป็นบริษัทไทยแห่งแรกที่ได้รับงานออกแบบติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จในงานส่วนต่อขยายสายสีเขียวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งธนบุรีจากสถานีตากสินไปวงเวียนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร และได้ทำงานส่วนต่อขยายสายสีเขียวอย่างต่อเนื่องอีกกว่า 30 สถานี และศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าอีกสองแห่ง และยังเป็นผู้รับเหมาหลักแบบเบ็ดเสร็จทั้งระบบของโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าแบบไร้คนขับระบบแรกของประเทศ จากการที่บริษัทคนไทยเป็นผู้รับเหมาหลักแบบเบ็ดเสร็จ จะทำให้มีโอกาสที่จะคัดเลือกวัสดุและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน แต่ผลิตในประเทศ (Local Contents) เพื่อนำมาใช้งานในโครงการได้มากขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพธนาคมและ BTS ที่ให้โอกาสบริษัทคนไทยเป็นผู้รับเหมาหลักแบบเบ็ดเสร็จและยินยอมใช้ของที่ผลิตในประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม Thai Subcon ต้องขอขอบคุณ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด ที่จะเป็น Big Brother ที่มาสร้างโอกาสแก่สมาชิกผู้ประกอบการไทยได้ร่วมกันผลิตร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ในระบบ OCS สำหรับใช้กับระบบรถไฟฟ้าในประเทศไทยต่อไป

“หากรัฐบาลให้การสนับสนุน สร้างโอกาส ให้ผู้ประกอบการไทยได้มีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นส่วนในระบบรถไฟอย่างจริงจัง ได้เริ่มผลิตภายใต้การรับรองคุณภาพจากมาตรฐานอุตสาหกรรมของรัฐบาลไทย โดยรัฐจะต้องมีแผนงานการจัดซื้อชิ้นส่วนจากคนไทยที่แน่นอน จุดเริ่มต้นในวันนี้ จะสร้างให้คนไทยได้ใช้รถไฟที่ทำโดยคนไทย ไม่ต้องพึ่งการนำเข้า และเมื่อให้เวลาพวกเราในการพัฒนาตัวเอง ต่อไปเราจะสามารถขยายผลสู่การผลิตส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์ในระบบราง จะมีเม็ดเงินและการจ้างงานมหาศาลที่หมุนเวียนในประเทศเพื่อให้คนไทยได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด

ด้าน นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด กล่าวว่า จากที่บริษัททำงานระบบขนส่งทางราง ทั้งการให้คำปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง และบำรุงรักษางานระบบรถไฟฟ้า (E&M) แบบเบ็ดเสร็จ เช่น ระบบสื่อสาร ระบบควบคุมและสั่งการระยะไกล ระบบไฟฟ้าหลัก อุปกรณ์สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ระบบประตูกั้นชานชาลา ระบบบริหารอาคารและระบบในตัวรถไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมศึกษาและพัฒนาธุรกิจระบบจ่ายไฟเหนือหัว (Overhead Catenary System : OCS) ในอุตสาหกรรมระบบราง ร่วมกับสมาคมไทยซับคอน ที่เป็นผู้นำด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศ

นายมารุต ให้ข้อมูลว่า สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจระบบจ่ายไฟเหนือหัว (Overhead Catenary System : OCS) ในอุตสาหกรรมระบบรางครั้งนี้ เราได้รับผิดชอบในส่วนงานของการจัดทำและสนับสนุนข้อมูล ร่วมดำเนินการด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบสายส่งไฟฟ้าเหนือหัวสำหรับรถไฟฟ้า (OCS) สำหรับขับเคลื่อนการเดินรถ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่จะเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย เราจะใช้องค์ความรู้และประสบการณ์ในระบบรางกว่า 10 ปี รวมถึงพันธมิตรของบริษัทจากต่างประเทศ เพื่อนำความรู้ด้านวิศวกรรมระบบรางขั้นสูง มาสร้างให้เกิดประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด กล่าวต่อว่า ผมมั่นใจว่าคนไทยมีศักยภาพในการพัฒนาและจัดทำอุปกรณ์และระบบเสริมการเดินรถไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือตั้งแต่การออกแบบผลิตชิ้นส่วน ติดตั้งพร้อมทดสอบ บริการซ่อมบำรุง ได้อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร และยิ่งการที่รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะสนับสนุนให้มีการใช้สินค้าผลิตในประเทศมากที่สุดเท่าที่ทำได้ภายใต้แนวนโยบาย “Thai First” ทำให้เราเห็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยจากนโยบายนี้ จึงได้นำความคิดนี้ไปหารือกับกลุ่มนักอุตสาหกรรมผู้ผลิตในประเทศ เช่น บริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ยางโอตานิ จำกัด บริษัท แม่น้ำสแตนเลสไวร์ จำกัด (มหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ซึ่งได้มีแนวคิดตรงกันที่จะรวมกลุ่มกันขึ้นภายใต้ “Thai Team” ที่เชื่อว่าจะทำให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นภาครัฐหรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เชื่อมั่นและมาร่วมส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง บนระบบและของที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล

“จากการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ถือเป็นการเริ่มต้นของโครงการ Thai Team ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมระบบรางและขนส่งมวลชนของประเทศโดยคนไทย เพื่อคนไทย ตามนโยบาย Thai First ให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง และเชื่อว่าพวกเราพร้อมจะเดินหน้าตามแผนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้สำเร็จลุล่วงต่อไป”

 

อ่านต่อ: