แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 3/2566

แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 3/2566

อัปเดตล่าสุด 20 ต.ค. 2566
  • Share :
  • 27,381 Reads   

กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 3/2566 โดยคาดการณ์หลายอุตสาหกรรมอยู่ในแนวโน้มหดตัวและชะลอตัว เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอยู่ในแนวโน้มชะลอตัว

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

คาดการณ์ว่าจะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบ ในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการสั่งซื้อเพื่อดูทิศทางราคา และอาจส่งผลต่อความต้องการใช้เหล็ก อย่างไรก็ตาม หากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมของภาครัฐมีความต่อเนื่อง คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

คาดว่าดัชนีผลผลิตจะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5 และมูลค่าการส่งออกจะมีการขยายตัวร้อยละ 3.0 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์เงินเฟ้อที่คลี่คลายขึ้น รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในตลาดส่งออกหลักของไทยซึ่งส่งผลบวกต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องจับตาซึ่งอาจส่งผลลบต่อการผลิตและส่งออกได้ เช่น นโยบายที่ให้ความสำคัญด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจจะส่งผลกับกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม

 

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัวประมาณร้อยละ 5.0 - 10.0 เนื่องจากผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิต การขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ อีกทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท เช่น IC ยังคงมีสินค้าคงคลังที่ยังไม่ได้ขายสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและผลิตภัณฑ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทาง IT ทำให้ยังคงมีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องประมาณร้อยละ 1.0 - 3.0 เนื่องจากสินค้าหลักที่สำคัญ เช่น วงจรรวมยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องจับตาสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา จีน และไต้หวันที่อาจส่งผลต่อ Supply Chain การผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น มาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีชิปของสหรัฐฯ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และปรับสัดส่วนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศจีน เป็นต้น

อุตสาหกรรมรถยนต์

ประมาณการในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 490,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

ประมาณการในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 440,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

คาดว่า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์จะขยายตัวตามการบริโภคในประเทศ และการใช้งานสำหรับบรรจุสินค้าต่าง ๆ สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษจะขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี สำหรับกลุ่มสิ่งพิมพ์ คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ จะยังคงชะลอตัวจากฐานตัวเลขเมื่อปีที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับสูง และอุปสงค์ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศที่ยังทรงตัว ในส่วนของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้คาดว่าจะกลับมาขยายตัวโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ ที่เริ่มมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มสูงขึ้น

อุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยาง

คาดว่า ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น) จะยังคงชะลอตัวจากอุปสงค์ความต้องการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง แต่ในส่วนของปริมาณการผลิตยางรถยนต์และถุงมือยางคาดการณ์ว่า จะกลับมาขยายตัวจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ในส่วนของถุงมือยางคาดว่าปริมาณการผลิตจะกลับมาขยายตัวภายหลังจากลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาส

อัญมณีและเครื่องประดับ

การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการจับจ่ายใช้สอย และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้าสำคัญที่กลับมาเติบโตอีกครั้ง จากการส่งเสริมการตลาดในหลายพื้นที่ อาทิ ฮ่องกง และกาตาร์ ที่มีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับและจัดแคมเปญเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและภาคธุรกิจ สร้างแรงจูงใจให้มีแรงซื้อกลับเข้ามา

อุตสาหกรรมอาหาร

คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะหดตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังส่งสัญญาณที่ดี รวมถึงอุปสงค์การนำเข้าสินค้าจากตลาดต่างประเทศ และความต้องการนำเข้าน้ำตาลยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

อ่านย้อนหลัง:

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH