แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 4/2565
กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 4/2565 ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้แม้ว่าจะยังได้รับผลกระทบจากภาระต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ก็คาดว่าหลายอุตสาหกรรมจะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ความต้องการใช้เหล็กชะลอตัวลง
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัวประมาณร้อยละ 3.0 เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการใช้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกได้
อุตสาหกรรมรถยนต์
ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 400,000 คัน โดยแบ่งเป็น การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์
ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 500,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20
อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์
คาดว่า ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ (กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษจะได้อานิสงส์ตามการใช์งานสำหรับซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ สำหรับการส่งออก คาดว่าเยื่อกระดาษจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง หากประเทศจีนได้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ซึ่งจีนเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษจากไทย
ปูนซีเมนต์
ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายคาดว่าจะขยายตัวได้อีกจากแรงขับเคลื่อนของโครงการก่อสร้างภาครัฐ และภาคเอกชนออกมาตรการส่งเสริมการตลาดเพื่อทำยอดขายช่วงปลายปี แต่อย่างไรก็ดี แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีทิศทางปรับขึ้นตามการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ยังเป็นปัจจัยลบที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
ภาวะอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยจากอุปสงค์ภายในประเทศจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญอย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่มากขึ้นเพื่อเตรียมผลิตสินค้าสำหรับในช่วงเทศกาลปลายปี อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบางจากปัญหาค่าครองชีพสูง และความผันผวนของราคาวัตถุดิบและพลังงานที่ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น
อุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยาง
คาดว่า ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมจะกลับมาขยายตัวจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในส่วนของปริมาณการผลิตยางรถยนต์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทางด้านปริมาณการผลิตถุงมือยางคาดการณ์ว่าจะชะลอตัว จากแนวโน้มความต้องการใช้ถุงมือยางในประเทศและต่างประเทศที่ปรับลดลง
อุตสาหกรรมอาหาร
คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปิดประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีการชะลอตัว และการอ่อนค่าของเงินบาทที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า โดยวัตถุดิบที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า อาทิ ปลาทูน่า แป้งสาลี
อ่านย้อนหลัง:
- แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 1/2565
- แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 2/2565
- แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 3/2565
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH