เนคเทค 5G อีโคซิสเต็ม โรงงานอัจฉริยะ

เนคเทคร่วม 5G Ecosystem ปั้นโรงงานอัจฉริยะนำร่องที่ SMC EECi

อัปเดตล่าสุด 23 ก.ย. 2564
  • Share :
  • 914 Reads   

เนคเทค (NECTEC) ร่วม “5G Ecosystem” ปั้นโรงงานอัจฉริยะนำร่องที่ SMC EECi หนุนภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอี ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผ่านการใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ

“5G ไม่ได้มีความสำคัญเพียงเพราะศักยภาพในการรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์มหาศาลความเร็วสูง แต่ยังเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนและธุรกิจทั่วโลก” ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวขณะร่วมงานแถลงข่าวงาน BYOND MOBILE รูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

โดยมี ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกล่าวเปิดงานพร้อมด้วย นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ที่ได้กล่าวถึงบทบาทของภาครัฐในการพัฒนา 5G ในประเทศไทย และ คุณธวัชชัย เลิศสำราญ รองผู้อำนวยการธุรกิจมือถือและนวัตกรรมบริการ 5G บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ดร.พนิตา ได้เล่าถึง ความสำคัญของ 5G ในภาคการผลิต และบทบาทของเนคเทค สวทช.ในการนำ 5G นำร่องสร้างโรงงานอัจฉริยะ ณ SMC “ในภาคการผลิต 5G เป็นองค์ประกอบการเชื่อมต่อที่สำคัญสำหรับการสร้างโรงงานอัจฉริยะ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น ระบบอัตโนมัติ (Automation), ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), เทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality: VR, Augmented Reality: AR, Mixed Reality: MR), การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT)

เนคเทค สวทช. ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ผ่านการวิจัยและพัฒนา สนับสนุนเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศ อีกทั้งยังเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ร่วมกับสิทธิประโยชน์และนโยบายที่จะช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและ 5G ในประเทศไทย

ปีที่ผ่านมา ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ SMC ภายใต้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามมติ ครม. โดยมุ่งเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยทั้งขนาดใหญ่และ SME ในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผ่านการใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ 

พร้อมด้วยบริการตอบโจทย์ ตั้งแต่การประเมินความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 การให้คำปรึกษาทางธุรกิจและเทคโนโลยี  การพัฒนากำลังคนด้านการผลิตขั้นสูง บริการทดสอบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี (Testbed) สำหรับการวิจัยและพัฒนา

ขณะนี้ SMC ดำเนินโครงการนำร่องโรงงานอัจฉริยะ 5G ร่วมกับโรงงานต่าง ๆ ในประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และผู้ให้บริการ 5G รายใหญ่ เพื่อเปิดประสบการณ์การใช้เทคโนโลยี 5G ในอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมวิเคราะห์ความคุ้มค่าต่อการลงทุนใช้งาน 5G ในอุตสาหกรรมอีกด้วย”  

“เนคเทค สวทช. ตระหนักถึงความสำคัญของ 5G และเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ดร.พนิตา กล่าวทิ้งท้าย