แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 2/2566

แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 2/2566

อัปเดตล่าสุด 27 มิ.ย. 2566
  • Share :
  • 1,420 Reads   

กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 2/2566 โดยคาดว่าในหลายอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร มีแนวโน้มปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมสำคัญส่วนใหญ่จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นได้

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

คาดการณ์ว่าจะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่มีความผันผวน ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกมีการปรับตัว และอาจส่งผลต่อความต้องการใช้เหล็ก อย่างไรก็ตาม หากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมของภาครัฐมีความต่อเนื่อง คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

คาดว่า ดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในตลาดส่งออกหลักของไทย ส่งผลบวกต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงมีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพมากขึ้น อาทิ เครื่องฟอกอากาศ และเครื่องปรับอากาศ

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะหดตัวประมาณร้อยละ 5.0 เนื่องจากราคาพลังงานที่ยังคงผันผวน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

อุตสาหกรรมรถยนต์

ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 450,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 510,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

คาดว่า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ และการใช้งานสำหรับซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ ตลอดจนการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมจะเป็นอานิสงส์ให้ผลิตภัณฑ์กระดาษในกลุ่มที่มีความเกี่ยวเนื่องขยายตัว

อุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยาง

คาดว่า ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมและยางรถยนต์จะกลับมาขยายตัวจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ในส่วนของปริมาณการผลิตถุงมือยาง คาดการณ์ว่าจะยังคงชะลอตัวจากความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกที่ปรับลดลงจากในช่วงที่ผ่านมา

อัญมณีและเครื่องประดับ

การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการจับจ่ายใช้สอย และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้าสำคัญที่กลับมาเติบโตอีกครั้ง จากการส่งเสริมการตลาดในหลายพื้นที่ อาทิ ฮ่องกง และกาตาร์ ที่มีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับและจัดแคมเปญเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและภาคธุรกิจ สร้างแรงจูงใจให้มีแรงซื้อกลับเข้ามา

อุตสาหกรรมอาหาร

คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะหดตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าลดลง ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานและเงินบาทที่มีทิศทางผันผวน อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย รวมถึงจากการที่ฐานของไตรมาสเดียวกันในปีก่อนสูง จากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวหลังการคลี่คลายของโรคไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตามอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว

 

อ่านย้อนหลัง:

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH