‘โบอิ้ง’ เลิกจ้างพนักงานอีกเกือบ 7,000 คน
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า “โบอิ้ง” บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาเปิดเผยในวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า บริษัทได้เลิกจ้างพนักงานโดยไม่สมัครใจเพิ่มอีก 6,770 คน โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับลดพนักงานของบริษัทลงทั้งสิ้น 16,000 ตำแหน่ง เพื่อรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้งานเครื่องบินทั่วโลกลดลง
นายเดฟ คาลฮูน ซีอีโอของโบอิ้งระบุในหนังสือถึงพนักงานว่า “เรามาถึงช่วงเวลาเลวร้ายที่ต้องเริ่มปลดพนักงานโดยไม่สมัครใจ” โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจในวันที่ 27 พ.ค. จะยังอยู่ในฐานเงินเดือนจนถึงสิ้นเดือน ก.ค. ซึ่งก่อนหน้านี้โบอิ้งยังได้เลิกจ้างพนักงาน ด้วยวิธีการให้ลาออกโดยสมัครใจโดยมีค่าตอบแทนไปแล้ว 5,520 คน
ส่งผลให้ขณะนี้โบอิ้งได้ปลดพนักงานไปแล้วกว่า 12,000 คน ซึ่งโฆษกของโบอิ้งระบุว่า การปลดพนักงานรอบต่อไปจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยเป็นไปตามเป้าในการปรับลดพนักงานของบริษัท เพื่อลดขนาดและกำลังการผลิตของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย เนื่องจากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบัน ที่ยังคงไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างชัดเจนว่าจะฟื้นตัวเมื่อใด
ทั้งนี้ ตำแหน่งงาน 16,000 คนที่บริษัทคาดว่าจะปรับลดนั้น คิดเป็น 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดทั่วโลกของโบอิ้งซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยพนักงานส่วนใหญ่ที่ถูกปลดอยู่ในส่วนงานผลิตเครื่องบินพาณิชย์มากกว่าส่วนงานเครื่องบินรบหรือยานอวกาศ
ขณะที่ “แอร์บัส” บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่คู่แข่งของโบอิ้ง ก็ได้ประกาศพักงานพนักงานในยุโรปถึง 6,000 คนในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ยังคงไม่มีการประกาศเลิกจ้างถาวร ส่วนสายการบินสหรัฐจำนวนมากก็มีแผนจะเลิกจ้างพนักงานด้วยเช่นกัน เนื่องจากไม่สามารถแบกรับผลกระทบครั้งนี้ได้ แต่รัฐบาลสหรัฐได้ให้เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้วยการอุดหนุนค่าจ้างพนักงานบางส่วน พร้อมเงื่อนไขห้ามบริษัทเลิกจ้างโดยที่พนักงานไม่สมัครใจจนถึงสิ้นเดือน ต.ค. 2020
อ่านเพิ่มเติม:
- โควิดทุบ ‘อุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน’ ส่อแวววิกฤต
- Airbus ผู้ผลิตอากาศยาน ประกาศลดเป้าผลิต เซ่นพิษโควิด
- BOI หนุนผู้ผลิตไทยป้อนชิ้นส่วนอากาศยานโลก ดึงยักษ์ใหญ่ โบอิ้ง-แอร์บัส-โรสรอยส์ จับคู่ธุรกิจ
- “โบอิ้ง” ยุติการผลิต “737 แม็กซ์” ชั่วคราว เซ่นอุบัติเหตุเครื่องตก
- ความต้องการอากาศยานทั่วโลก โต 2 เท่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า