สยย. เร่งเสนอมาตรการยกระดับความพร้อม ผู้ประกอบการยานยนต์ไทย สู่ยานยนต์สมัยใหม่  (Parts Transformation)

สยย. เร่งเสนอมาตรการยกระดับความพร้อม ผู้ประกอบการยานยนต์ไทย สู่ยานยนต์สมัยใหม่

อัปเดตล่าสุด 18 ส.ค. 2566
  • Share :
  • 31,524 Reads   

วันที่ 15 สิงหาคม 2566 - สถาบันยานยนต์ (สยย.) จัดงานสัมมนา “นำเสนอผลการศึกษา ภายใต้โครงการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Parts Transformation) ปี พ.ศ. 2566” ซึ่งได้รับมอบหมายจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ประตูน้ำ 

ดย ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า “จากนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรม ยานยนต์สมัยใหม่ มุ่งเน้นสองประการ คือ หนึ่ง การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในระยะยาว และ สอง การต่อยอดจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม (ICE) ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง คือ การพัฒนาเทคโนโลยีการเชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV) ที่นำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ รวมถึงการพัฒนายานยนต์ ICE ที่มีลักษณะ สะอาด ประหยัด และปลอดภัย อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้กำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไร้มลพิษ 

และเพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และแผนการปรับเปลี่ยนผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมถึงแรงงานไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ ครอบคลุมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเป้าหมาย เพื่อยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 

ผลการศึกษา ภายใต้โครงการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Parts Transformation) ปี พ.ศ. 2566

ในการนี้ได้รับเกียรติจาก นางดวงดาว ขาวเจริญ ผู้อำนวยการกองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานสัมมนาดังกล่าว ว่า “นโยบาย 30@30 รัฐบาลกำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ในปี 2030 ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ “การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก” เป็นการวางทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยของภาครัฐที่ชัดเจน รวมทั้ง ได้ออกมาตรการครอบคลุมในหลายด้าน ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี (โครงการ EV3) รวมทั้ง มาตรการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งมาตรการที่นำไปสู่การดำเนินงานในลักษณะบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการลงทุนใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ EV และทำให้ Demand ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน รวมทั้ง ส่งผลให้นักลงทุนรายใหม่ และรายเดิมสนใจเพิ่มเติมการลงทุน โดยต้องการให้ภาครัฐพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริม (หรือ EV 3.5) นอกจากนี้ ยังเป็นการดึงดูดผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ให้เข้ามาลงทุนผลิตในประเทศด้วย นโยบายของภาครัฐนี้ถือเป็นการชี้นำภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้มีทิศทางสอดคล้องกับทิศทางของยานยนต์โลก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อย่างยั่งยืน 

นอกจากนี้ ภาครัฐได้ตระหนักถึงการผลิตรถยนต์ในส่วนร้อยละ 70 หรือ 70@30 ซึ่งเป็นยานยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE และส่วนใหญ่เป็น Product Champion ของไทยคือ รถกระบะขนาด 1 ตัน และ Eco car ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ EV หรือ CAV โดยกำลังพิจารณาการส่งเสริมตามแนวทาง “สะอาด (หรือมาตรฐาน Euro 6) ประหยัด (พลังงาน หรือปล่อย CO2 ต่ำ) และปลอดภัย (หรือมาตรฐานการชน และ ADAS)” ซึ่งรถยนต์ดังกล่าวจะมีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยอาจจะเป็น HEV, PHEV  สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างราบรื่น”

และการบรรยายพิเศษ เรื่องสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย โดย นายสุพจน์ สุขพิศาลประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่นำเสนอสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย ทั้งการผลิตชิ้นส่วนสำหรับการประกอบในโรงงานผลิตรถยนต์ (OEM) และชิ้นส่วนสำหรับอะไหล่ทดแทน (REM) โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตชิ้นส่วน OEM มีความสามารถแข่งขันในกลุ่มชิ้นส่วนรถกระบะเป็นหลัก และให้ข้อสังเกตว่าการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์สมัยใหม่เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก จำเป็นต้องสร้างความสามารถให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนในปัจจุบันทั้งความสามารถทางเทคโนโลยีและการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตยานยนต์สัญชาติจีน ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วน REM ยังมีโอกาสเติบโตเนื่องจากตลาดรถสะสมทั่วโลกจำนวนมากกว่าพันล้านคัน แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังขาดข้อมูลอุตสาหกรรมนี้อยู่อีกมาก จึงจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อใช้สำหรับการวางแผนนโยบายด้านชิ้นส่วน REM ต่อไป

รวมถึงการนำเสนอผลการศึกษาภายใต้โครงการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ปี พ.ศ. 2566 โดย คณะผู้วิจัย ซึ่งได้ประเมินความสามารถการแข่งขันของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย พบว่า โดยเฉลี่ย ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติจะมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทย ดังนั้น ความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ทั้งกระแสการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า และการปรับตัวทางด้านสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถปรับตัวในระดับแตกต่างกันไป หรือต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกันออกไป ที่สำคัญ ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับสูงมีจำนวนไม่มากนัก หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 15 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด (ผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวน 362 รายในกลุ่มตัวอย่าง) ซึ่งเชื่อว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนกลุ่มนี้มีโอกาสรักษาความสามารถในการแข่งขันและปรับตัวต่อบริบทความท้าทายในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้  และในรายสาขาชิ้นส่วนยานยนต์ต่าง ๆ ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติมีความพร้อมทางเทคโนโลยีและงบประมาณที่จะผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ในสัดส่วนสูงกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทยในทุกรายสาขาชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทยในกลุ่มช่วงล่าง (Chassis) และกลุ่มกระบวนการผลิต (Process) จะมีความพร้อมต่อการปรับตัวสูงกว่ากลุ่มสาขาชิ้นส่วนอื่น ๆ เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทยเหล่านี้ยังสามารถเข้าไปเชื่อมโยงชิ้นส่วนตนเองหรือกระบวนการผลิตตนเองไปยังยานยนต์สมัยใหม่ได้ 

พร้อมข้อเสนอมาตรการเพื่อไปสู่เป้าหมาย 4 ประการ ได้แก่  1. ส่งเสริมการเข้าสู่ตลาด เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเป็นที่รู้จักเชื่อมั่นศักยภาพของผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย  2. ส่งเสริมฐานการผลิตให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น เช่น การสร้าง Ecosystem พัฒนาการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ เพื่อตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ การยกระดับเป็นผู้ประกอบการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  3. การสร้างความสามารถทางเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น แบตเตอรี่ Autonomous ระบบ ADAS ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการทำ R&D  4. การพัฒนาบุคคลากร เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่

พร้อมทั้งมีการเสวนาใน เรื่องโอกาสของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยในตลาดอะไหล่ทดแทน โดย นายมีชัย ศรีวิบูลย์ ผู้อำนวยการสายงานด้านเทคนิค บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด นายธเนศ เลิศขจรกิตติผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน) นายธงชัย อุพันวัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเจแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ดำเนินรายการโดยนางสาวฐิติภัทร ดอกไม้เทศ ผู้จัดการแผนกพัฒนาอุตสาหกรรมและรักษาการผู้จัดการแผนกวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ วิทยากรทั้งสามท่านได้นำเสนอประสบการณ์การดำเนินธุรกิจ ซึ่งประเด็นสำคัญคือการเข้าใจตลาดและนำข้อมูลจากลูกค้ากลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการ โดยมีหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาของตนเอง และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการดำเนินมาตรการของภาครัฐ เช่น

  • ภาครัฐจำเป็นต้องส่งเสริม Business Matching หรือผลักดันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไปแสดงผลิตภัณฑ์ตนเองไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น และไม่ควรมีข้อจำกัดจำนวนครั้งของการเข้าร่วมโครงการให้เงินอุดหนุนเพื่อจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตชิ้นส่วนในแต่ละราย โดยเฉพาะในโครงการ SME Pro-active 
  • โครงการความช่วยเหลือทางการดำเนินงานธุรกิจของภาครัฐมีจำนวนมากและกระจายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ แต่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นความยากของผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ไม่รู้ว่าจะติดต่อหน่วยงานใด จึงอยากให้มีศูนย์ที่ช่วยแนะนำและติดต่อโครงการความช่วยเหลือแบบรวมศูนย์
  • ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งรวบรวมข้อมูลตลาดสินค้าอะไหล่ทดแทนในตลาดส่งออกต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนมีโอกาสเข้าไปขายได้มากขึ้น

ทั้งนี้ สถาบันยานยนต์มีความเชื่อมั่นว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีความสามารถแข่งขันเทียบเท่าผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติ และประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะสอดรับกับเป้าหมายของนโยบาย 30@30 ต้องการคงความสามารถการแข่งขัน เพื่อเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลกได้อย่างแน่นอน

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH