Thailand Electric Locomotive Design Contest 2020 ครั้งแรกของไทย จัดโดย วสท. และ สอวช.

ครั้งแรกของไทย...วสท. และ สอวช.จัดแข่งออกแบบโมเดลหัวรถจักรไฟฟ้า Thailand Electric Locomotive Design Contest 2020

อัปเดตล่าสุด 18 ธ.ค. 2563
  • Share :

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ สนง. สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานประกวดออกแบบโมเดลหัวรถจักรไฟฟ้า “Thailand Electric Locomotive Design Contest 2020” บนพื้นฐานกฎและกติกาการแข่งขันของ IMechE Railway Challenge ภายใต้การดูแลของสถาบันวิศวกรเครื่องกล (Institution of Mechanical Engineers) แห่งสหราชอาณาจักร โดยในปีแรกนี้ไทยมุ่งเตรียมพร้อม เน้นการดีไซน์ที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงตามมาตรฐานสากล ผลแข่งขันเยาวชนทีม RET-KMITL คว้าแชมป์ชนะเลิศ,  ทั้งนี้ วสท. เผยในอนาคตจะยกระดับการแข่งขันออกแบบโดยผลิตหัวรถจักรไฟฟ้าจริงให้วิ่งบนรางได้ด้วย หนุนส่งคนรุ่นใหม่ของไทยแข่งบนเวทีระดับโลกต่อไป

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านคมนาคมขนส่งทางรางครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์วิถีใหม่และการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่  การพัฒนารถไฟระหว่างเมืองด้วยระบบรางคู่ และกำลังจะเปลี่ยนจากหัวรถจักรดีเซลเป็นรถไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้ ตลอดจนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังเร่งก่อสร้าง วัตถุประสงค์ของการประกวด“Thailand Electric Locomotive Contest 2020” เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านวิศวกรรมระบบราง รองรับการเติบโตของประเทศในอนาคต สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เป็นพลังร่วมสร้างสรรค์ผลงานหัวรถจักรและระบบราง ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การจัดการระบบรางและการบำรุงรักษา ต่อยอดองค์ความรู้ในระบบรางสู่ทักษะการปฏิบัติและผลิตโมเดลย่อส่วนหัวรถจักรไฟฟ้าจริง

ด้าน ดร. เอกรงค์ สุขจิต ประธานโครงการ Railway Challenge วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ความเป็นมาของการประกวด เริ่มแรกในสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นประเทศที่เป็นจุดกำเนิดของเทคโนโลยีระบบรางและรถไฟใต้ดินแห่งแรกของโลก โดยจัดประกวดครั้งแรกในปี 2012 และพัฒนาต่อเนื่องมาโดยให้ออกแบบและผลิตรถไฟโมเดลแบบย่อส่วนตามโจทย์ที่กำหนดและวิ่งบนรางได้จริง นับเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมระบบราง และส่งผลกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางจากมหาวิทยาลัยสู่ภาคอุตสาหกรรม การแลกเปลี่ยนความรู้และพบปะกันระหว่างนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระบบราง สำหรับประเทศไทย เราได้เริ่มจัดกิจกรรมแข่งขันในปีนี้เป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ “Thailand Electric Locomotive Design Contest 2020” การแข่งขันออกแบบโมเดลหัวรถจักรไฟฟ้า ซึ่งเน้นการออกแบบหัวรถจักรไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว 

กติกาการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ทีมละไม่เกิน 10 คน ภายใต้โจทย์การแข่งขัน ประกอบด้วย ออกแบบหัวรถจักรต้นกำลังเป็นไฟฟ้า สำหรับรางขนาด 10 ¼ นิ้ว น้ำหนักรวมต้องไม่เกิน 2 ตัน และความเร็วสูงสุด 15 กม./ชม. ทั้งนี้จุดเด่นของการประกวดยังรวมถึงแผนการตลาด และกลุ่มเป้าหมายลูกค้า คำนวณต้นทุน กำหนดราคาขายเพื่อขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย

การดำเนินงานแข่งขัน คณะกรรมการจัดงานฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้จัดเวิร์คช้อป 6 ครั้ง ตั้งแต่กันยายน 2562 ถึงมกราคม 2563 โดยให้ความรู้และทักษะทางด้านเทคโนโลยีระบบราง ได้แก่ การเลือกใช้วัสดุและการขึ้นรูปวัสดุ, การวิเคราะห์ความแข็งแรงของแคร่รถไฟ, การจัดทำแผนธุรกิจและแนวทางการสร้างนวัตกรรม, ระบบห้ามล้อและการควบคุม,  ต้นกำลังไฟฟ้าของหัวรถจักร, การใช้เครื่องมือวัดเพื่อวิเคราะห์ทางพลศาสตร์ของรถไฟ เกณฑ์การตัดสินรอบชิงชนะเลิศ  ประกอบด้วย หลักการทางวิศวกรรม, เทคนิคการนำเสนอ, การตรงต่อเวลา และการตอบคำถามต่อคณะกรรมการ        

ครั้งแรกของไทย...วสท. และ สอวช.จัดแข่งออกแบบโมเดลหัวรถจักรไฟฟ้า Thailand Electric Locomotive Design Contest 2020

นนทวัฒน์ บวรกุลโสภณ หรือ เฟิร์ส หนุ่มนักศึกษาวิศวะลาดกระบัง วัย 23 ปี  หัวหน้าทีม RET-KMITL คว้ารางวัลแชมป์ชนะเลิศ กล่าวว่า ในทีมมีสมาชิก 10 คน เราชอบเทคโนโลยีระบบรางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและโลกวิถีใหม่กันอยู่แล้ว  ใช้เวลากว่า 3 เดือน ได้วิเคราะห์ ถกเถียง ใช้ความรู้ที่เรียนมาลงมือปฏิบัติจริงในการออกแบบหัวรถจักรไฟฟ้าย่อส่วน โดยมุ่งเป้าสำหรับใช้ขนส่งในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวยั่งยืน จุดเด่น คือ 1.ความปลอดภัยพร้อมด้วยระบบเบรคทั้งแบบปกติ ระบบเบรคฉุกเฉิน ระบบเบรกอัตโนมัติ และระบบเบรกโดยจ่ายพลังงานคืน 2.ใช้พลังงานสะอาด ไม่สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากแบตเตอรี่แล้วยังมีพลังงานสำรองจากไดนาโมอีกด้วย 3.มีความสวยงามและสามารถควบคุมได้ตลอดเวลาผ่านระบบบลูทูธและรักษาความปลอดภัย 4.ติดตั้งและถอดประกอบง่าย เช่น ถอดล้อเพลาได้ภายใน 5 นาทีเท่านั้น 5.อายุการใช้งานยาวนาน 50 ปี วัสดุอุปกรณ์และอะไหล่หาง่าย น้ำหนักรวม 500 กก. กำหนดราคาขาย 299,900 บาท/ หัวจักร ค่าใช้จ่ายสร้างราง 1,200 บาท /เมตร หรือ 4.4 ล้านบาท โดยคำนวณรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 1.3 -2.5 ล้านบาท/ปี  ครับ

ผลการแข่งขัน รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษา 50,000 บาท ได้แก่ ทีม RET-KMITL จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ส่วนรางวัลอันดับ 2 ทุนการศึกษา 30,000 บาท ได้แก่ ทีมรถจักรสังหาร ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รางวัลอันดับ 3 ทุนการศึกษา 15,000 บาท ได้แก่ ทีม KMUTT Railway Team ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, และรางวัลชมเชย เป็นทีมสุรเริงชัย ม.เทคโนโลยีสุรนารี

ในปีหน้ารัฐบาลกำลังจะเปิด สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์คมนาคมระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียน ในอนาคตพลังของคนรุ่นใหม่จะได้มีส่วนพัฒนาสร้างสรรค์ระบบรางของไทยให้ก้าวไกลยั่งยืน

 

อ่านต่อ: วสท.ร่วม รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จัดสัมมนาเตรียมพร้อมรับแผนพัฒนาระบบรางไทย เผยเวียดนามผลิตประกอบรถไฟ-รถไฟฟ้า