สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กไทย, อุตสาหกรรมเหล็ก, สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย, ผู้รับเหมาก่อสร้างไทย, อุตสาหกรรมก่อสร้างไทย

สถาบันเหล็กฯ ยันเหล็กในประเทศเพียงพอ วอนรัฐปรับค่า K ช่วยผู้รับเหมาก่อสร้าง

อัปเดตล่าสุด 25 เม.ย. 2565
  • Share :

สถาบันเหล็กฯ เผยสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กไทย ยืนยันเหล็กในประเทศมีเพียงพอ วอนรัฐปรับค่า K ช่วยผู้รับเหมาก่อสร้าง 

วันที่ 25 เมษายน 2565 นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ราคาของอุตสาหกรรมเหล็กในภูมิภาคเอเชียว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นทั้งในส่วนของวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป โดยในเดือนเมษายน 2565 ราคาเหล็กแท่งแบน (Slab) และเหล็กแท่งเล็ก (Billet) ปรับตัวสูงขึ้น 27.4% และ 25.2% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์เหล็กโลก ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย ยูเครนที่ส่งผลต่อต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิง และการขาดหายไปของสินค้าเหล็กในตลาดโลกบางส่วน

สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กไทย พบว่าปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล็กในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 มีปริมาณ 2.54 ล้านตัน ลดลง 14.3% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยมีปริมาณนำเข้า 1.58 ล้านตัน ลดลง 12.3% ส่วนผู้ผลิตในประเทศมีการผลิต 1.17 ล้านตัน ลดลง 14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งจะเห็นได้ว่าการผลิตในประเทศได้รับผลกระทบมากกว่าการนำเข้า 

ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยที่ปรับลดลงส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของผู้ประกอบการไทยปรับลดลงด้วยเหลือเพียง 29.9% จากระดับ 37% ในปี 2564 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และก็ถือว่าเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชีย เช่น เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตมากกว่า 50% อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากกำลังการผลิตที่เหลืออยู่เป็นจำนวนมาก สถาบันเหล็กฯ มีความเห็นว่าการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศมีเพียงพอต่อความต้องการใช้อย่างแน่นอน 

ทั้งนี้ การสนับสนุนการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ โดยเฉพาะในงานโครงการภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล และจากกรณีงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าเหล็ก ทางสถาบันฯ เชื่อว่าแนวทางที่สามารถช่วยเหลือทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) คือการปรับค่างานก่อสร้าง (ค่า K) ให้เหมาะสมตามสถานการณ์จริง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบของผู้รับเหมา และช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศสามารถจำหน่ายสินค้าสอดคล้องต้นทุนและกลไกตลาดได้ ซึ่งมีกรมการค้าภายในเป็นหน่วยงานที่คอยตรวจสอบ และควบคุมอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว 

สำหรับผลกระทบกับภาคการก่อสร้างทั่วไป สถาบันเหล็กฯ ได้รับข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ Real Estate Information Center (REIC) ได้จัดทำดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในกรุงเทพฯและปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี 2565 พบว่าค่าดัชนีมีค่าเท่ากับ 127.3 ลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2564 ดังนั้นหากพิจารณาถึงราคาสินค้าเหล็กที่มีการปรับตัวสูงสุดในปี 2564 ในขณะที่ดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ปรับลดลง แสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าเหล็กที่ปรับตามกลไกตลาดไม่น่าจะกระทบต่อผู้บริโภคโดยทั่วไป 

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ BCG ว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายผลักดันให้โรงงานทั่วประเทศได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry (GI) เพื่อให้โรงงานทั่วประเทศปฏิบัติตามมาตรฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสามารถกำหนดให้มีการเลือกใช้เหล็กที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับการรับรอง GI ดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุน

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH