ก.อุตฯ ย้ำไทย ฐานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า มุ่งสู่ Smart Electronics ในอนาคต
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นัดหารือร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงาน ชูยอดส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ฯ 5 เดือนแรก ปี 2563 กว่า 26,700 ล้านบาท ยืนยัน ภาคเอกชนยังคงเชื่อมั่นการบริหารจัดการของรัฐบาลไทย ยึดไทยเป็นฐานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า พร้อมเร่งขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Smart Electronics)
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมียอดการส่งออกมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท มีการจ้างแรงงานกว่า 1 ล้านคน รวมถึงยอดขอตั้งประกอบโรงงานใหม่และขยายกิจการโรงงานประเภทไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบ 5 เดือนแรกของปี 62 กับปี 63 พบว่าเพิ่มขึ้นจาก 43 โรงงาน เป็น 53 โรงงาน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จาก 9,372 คน เป็น 29,064 คน จากการสอบถามนักลงทุน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นักลงทุนชื่นชมการรับมือรัฐบาลไทยสามารถรับมือกับโควิดได้ดี ส่งผลเอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรมกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มียอดการส่งออกเพิ่มมากขึ้น 5-10% นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนที่ทำธุรกิจภายในประเทศอยู่แล้วมีแผนจะขยายการลงทุนภายในปีนี้เพิ่มขึ้น อาทิเช่น ซัมซุง มิตซูบิชิ โตชิบา ซีเกต และไซโจเด็นกิ เป็นต้น ส่วนกิจการที่มีการย้ายฐานการผลิตนั้น จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการปรับแผนทางธุรกิจที่วางไว้เดิมอยู่แล้ว
- Panasonic ลาไทย ไปเวียดนาม ปิดโรงงานเครื่องซักผ้า-ตู้เย็นในเวลโกรว์
- ก.อุตฯ ยัน Panasonic ยังยึดฐานผลิตในไทยอีก 18 โรงงาน จ้างงานกว่า 10,000 คน
- แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2020 สดใส อานิสงค์นักลงทุนต่างชาติเลือกไทยเป็นฐานการผลิตและการค้า
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน บริษัทต่างชาติและไทยที่ได้รับส่งเสริมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อัจริยะ อาทิ ซัมซุง (เกาหลี) โตชิบา (ญี่ปุ่น / จีน) ไมเดีย (จีน) มิตซูบิชิ (ญี่ปุ่น) อิเล็กโทรลักส์ (สวีเดน) แอลไลแอนส์ ลอนดรี้ (สหรัฐ) แดยู (เกาหลี) และ ซัยโจ เด็นกิ (ไทย) โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย อาทิ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ตู้แช่ เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับ 5 เดือนแรกของปี 2562 โดย 5 เดือนแรกของปี 2563 มียอดคำขอ 62 โครงการ มูลค่ากว่า 26,764 ล้านบาท ประกอบด้วยอุตสาหกรรมประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้า ในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบสมาร์ท เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หมวดผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วงจรรวม หรือ IC (Integrated Circuit) และแผงวงจรพิมพ์ หรือ PCBA เซลล์แสงอาทิตย์
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่ยังยืนยันยึดไทยเป็นฐานการผลิตและมีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ขณะที่ผู้บริหารกลุ่มพานาโซนิคเอง ได้ยืนยันว่าการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนามนั้น ไม่ได้มีผลเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อมั่นการลงทุนในไทย เนื่องจากพานาโซนิคเปิดโรงงานในไทยทั้งสิ้น 20 โรงงาน และย้ายฐานการลงทุนไปเพียง 2 แห่ง ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการที่มีเทคโนโลยีแบบเก่าไม่ได้ใช้งานในประเทศไทยแล้ว และยังเหลือบริษัทในประเทศไทยอีก 18 แห่ง โดยจะยังคงมีการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม:
- อัปเดต สายการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ช่วงโควิด-19
- ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กฯ ครองอันดับ 1 ชูยุทธศาสตร์พัฒนาไปสู่ “Smart Industry”
- Panasonic ถอย ล้มแผนสร้างโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในจีน
- แบตฯ รถยนต์ไฟฟ้า Panasonic ช้ำ โดน CATL ร่วม LG Chem ชิงส่วนแบ่ง Tesla