3 กระทรวงฯ ใหญ่ จับมือภาคเอกชน ผลักดันการพัฒนาบุคลากรยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมชูนวัตกรรมผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์

3 กระทรวงฯ ใหญ่ ร่วมผลักดันการพัฒนาบุคลากรยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมชูนวัตกรรมผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์

อัปเดตล่าสุด 24 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 469 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงนามสร้างและพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลักดันการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน โดยมี นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายยศพล เวณุโกเศศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ร่วมพิธีลงนาม ณ ห้องโถง ชั้น 1 สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 
 
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายด้านการขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลยานยนต์ไฟฟ้าเป็น 1 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้เป็นเมืองสะอาด ตลอดจนนำพาประเทศสู่โลกยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการกำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ปี 2573 จำนวนร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงาน และบุคลากรที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ในการร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1.) เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ทักษะฝีมือและวิชาการขั้นสูง ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ตลอดจนกำหนดกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างกำลังคนทักษะฝีมือและหรือวิชาการขั้นสูง ที่สอดคล้องกับความต้องการการพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการให้แก่ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการหรือกิจการที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และ 3.) เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) กลางแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาคการศึกษา และเก็บข้อมูลเพื่อเป็นข้อมูลกลางด้านจำนวนกำลังคน และช่องว่างทางทักษะ (Skills Gap) ของกำลังคนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
 
นายยศพล เวณุโกเศศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ. เป็นหน่วยงานหลัก ในการผลิตแรงงานเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับอีกสองหน่วยงาน และภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มีนโยบายขับเคลื่อนโครงการศูนย์การเรียนรู้ หรือ Excellent Center (EC) สำหรับการฝึกทักษะอาชีพให้แก่นักศึกษา โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการพัฒนาให้ครอบคุลม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และในอนาคตวางเป้าหมายเปิดศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC) โรงเรียนต้นแบบแห่งแรกเพื่อเป็นศูนย์กลางการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียน-เอกชนในระดับภูมิภาค มุ่งพัฒนาศักยภาพบุคคล สู่การเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นเลิศ ตามมาตรฐานสากล 
 
"ปัจจุบัน สอศ.มีหลักสูตรสำคัญที่เปิดสอนในปีการศึกษา 2564 คือ สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางาน (ย่อย) เทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งหมด 16 วิทยาลัย ซึ่งสามารถต่อยอดด้านกำลังผลิตได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ปัจจุบัน สอศ. มีการทำความร่วมมือทวิภาคร่วมกับบริษัทผลิตแบตเตอรี่รถยนต์หลายบริษัท ซึ่งอยู่ในโครงการ EC โดยได้ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทราในสังกัดของ สอศ.ดำเนินโครงการ EC ในด้านยานยนต์ ดังนั้น ทางอาชีวศึกษามีความพร้อมในการผลิตนักศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม การผลิตนักศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการนั้นยังคงต้องคำนึงถึงโอกาสในการประกอบอาชีพหลังสำเร็จการศึกษา ว่าจะสามารถรองรับจำนวนนักศึกษาจบใหม่ได้ครบถ้วนหรือไม่"
 
 
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตลอดจนเครือข่ายศูนย์วิจัยทั่วประเทศ จะสามารถช่วยในการสนับสนุนข้อมูล การใช้ห้องปฏิบัติการเครื่องมืออุปกรณ์ โรงงานต้นแบบ ให้กับผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดให้ธุรกิจอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยการสนับสนุนดังกล่าว จะสามารถ ลดต้นทุน พร้อมทั้งยกระดับประสิทธิภาพการผลิตด้วยความช่วยเหลือของนักวิจัยระดับชาติ ส่งต่องานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างได้สำเร็จ โดยผ่านกระบวนการเชื่อมโยงกับหน่วยงานในระดับจังหวัดในการขยายผลขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืนต่อไป