Thai Subcon ร่วม MARA ยกระดับการพัฒนาบุคลากรด้านออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ฝึกเทคโนโลยีชั้นสูงรองรับแรงงาน EEC กว่า 5,000 คน

Thai Subcon ร่วม MARA ยกระดับการพัฒนาบุคลากรด้านออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ฝึกเทคโนโลยีชั้นสูงรองรับแรงงาน EEC กว่า 5,000 คน

อัปเดตล่าสุด 24 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 643 Reads   

สมาคม Thai Subcon และสถาบัน MARA ยกระดับความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ตอบรับเป้าหมายกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการขับเคลื่อนทักษะแรงงานสมองกล ฝึกเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน รองรับ EEC ปี 2564 จำนวนกว่า 5,000 คน

จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงมีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automatic and Robotics Academy: MARA) ขึ้นในปี 2561 โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพให้แก่ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ในการทำงาน เพิ่มผลิตภาพ และสร้างโอกาสในการแข่งขันให้สูงขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบกิจการที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โดยในปี 2563 นี้ กพร. ได้ดำเนินการภายใต้แผนพัฒนากำลังคนของคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ขับเคลื่อนโดย MARA สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ฝึกทักษะให้แก่แรงงานในโครงการพัฒนาทักษะกำลังแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป้าหมาย 6,400 คน ดำเนินการแล้ว 6,370 คน และในปี 2564 เป้าหมาย 5,440 คน ซึ่งเน้นด้านเทคโนโลยีชั้นสูง Upskill Reskill และ New skill กลุ่มเป้าหมายบุคคลทั่วไป นักศึกษาจบใหม่ แรงงานในระบบ และผู้ว่างงานที่มีทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับ งานช่างฝีมือ ผู้เข้ารับการฝึกจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

โดยหน่วยงาน กพร. ในเขต EEC ได้ร่วมกับสถานประกอบกิจการดำเนินการจัดทำหลักสูตรและผ่านการอนุมัติจาก สกพอ. แล้ว 21 หลักสูตร ซึ่งในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา ได้จัดฝึกอบรมรวมจำนวน 9 หลักสูตร 11 รุ่น ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 158 คน ได้แก่ สาขาการซ่อมบำรุงและแก้ไขปัญหาเครื่องปรับอากาศในอุตสาหกรรมการผลิต สาขาการตรวจสอบงานเชื่อมชิ้นส่วนยานยนต์ สาขาการควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม WELDEX ด้วยโปรแกรม CRP และ LNC สาขาช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC ระดับ 1 เป็นต้น สำหรับในปี 2564 เป้าหมายดำเนินการฝึกอบรมอีกจำนวน 400 คน

จากการดำเนินการจัดฝึกอบรม สถาบัน MARA พบปัญหาในกลุ่มผู้เข้าอบรมที่เป็น SMEs รายย่อยที่ไม่สามารถจัดหาเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีราคาแพงตามแบบที่ได้รับการฝึกอบรมได้ จึงไม่สามารถนำความรู้และทักษะไปพัฒนากระบวนการผลิตในโรงงานของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ทางสมาคม Thai Subcon จึงได้จัดหาหุ่นยนต์เชื่อมโลหะ WELDEX รุ่น W-14iE พร้อมอุปกรณ์ครบชุด เพื่อมอบให้แก่สถาบัน MARA ใช้ในการดำเนินจัดฝึกอบรมของสถาบัน

โดยพิธีส่งมอบหุ่นยนต์เชื่อมโลหะ WELDEX รุ่น W-14iE พร้อมอุปกรณ์ครบชุดจากบริษัท เวลเด็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นสมาชิกในคลัสเตอร์ระบบอัตโนมัติ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 โดยนายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคม Thai Subcon และสถาบัน MARA โดยอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายธวัช เบญจาทิกุล เป็นตัวแทนสถาบันฯ ในการรับมอบครั้งนี้

หุ่นยนต์เชื่อมโลหะ WELDEX รุ่น W-14iE นั้น เป็นหุ่นยนต์เชื่อมประเภทมิก ขนาด 1.4 เมตร เหมาะสำหรับงานเชื่อมโลหะประเภทเหล็กและสเตนเลส สร้างและพัฒนาให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่อง สามารถเชื่อมงานได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ใช้ระบบควบคุมจากประเทศไต้หวัน มีระบบรองรับ Factory 4.0 ได้ในอนาคต

 

อ่านต่อ: