อินโดนีเซีย ลดนำเข้าสินค้า อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ 2564 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

อินโดฯ ออกมาตรการลดนำเข้า ตั้งเป้าเหลือ 35% ในปี'65 กระทบเครื่องใช้ไฟฟ้า - เครื่องปรับอากาศไทย

อัปเดตล่าสุด 20 ก.ย. 2564
  • Share :

จากกรณีอินโดนีเซียเริ่มบังคับใช้มาตรการเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการนำเข้าให้เหลือเพียงร้อยละ 35 ภายในปี 2565 ส่งผลกระทบกับเครื่องใช้ไฟฟ้า - เครื่องปรับอากาศไทย ทาง สมอ. ได้ยื่นเรื่องเจรจา หากไม่คืบหน้าเตรียมร้อง WTO ในเวทีการประชุม Committee on TBT ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

Advertisement

วันที่ 20 กันยายน 2564 นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยการอำนวยความสะดวกในด้านมาตรการทางกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทยประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดประเทศอินโดนีเซียได้กำหนดมาตรการลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายให้เหลือเพียงร้อยละ 35 ภายในปี 2565 ซึ่งได้เริ่มนำมาตรการลดการนำเข้ามาใช้ โดยเพิ่มขั้นตอนและกำหนดโควตาการนำเข้าสินค้า รวมถึงให้หน่วยงานภายในประเทศที่ให้บริการออกใบรับรองสินค้าตามมาตรฐาน SNI (Indonesian National Standard) ระงับการตรวจประเมินโรงงานผลิตสินค้าในต่างประเทศ

ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ตนจึงได้กำชับให้ สมอ. ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย และบรรเทาผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. เป็นผู้แทนประเทศไทยด้านกฎระเบียบของสินค้าอุตสาหกรรมในเวทีการค้าโลก มีหน้าที่ปกป้องดูแลและสนับสนุนผู้ส่งออกให้ได้รับความสะดวกไม่ถูกกีดกันทางการค้าจากกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม และยังต้องปฏิบัติตามกติกาที่องค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดขึ้น มุ่งเน้นในเรื่องความโปร่งใสและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันของสมาชิก WTO ทั้งหมด

ดังนั้นต่อกรณีดังกล่าวถือว่าอินโดนีเซียมิได้ปฏิบัติตามกฎกติกาสากลที่ WTO กำหนดไว้ โดยการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาสในการส่งออกสินค้า จึงขอให้อินโดนีเซียพิจารณามาตรการเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการของไทย ตามพันธกรณีความตกลงที่ประเทศสมาชิกต้องถือปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และหากอินโดนีเซียยังไม่ยกเลิกมาตรการดังกล่าว สมอ. จะหยิบยกเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นหารือในเวทีการประชุม Committee on TBT ครั้งที่ 85 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2564 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “นอกจากมาตรการของประเทศอินโดนีเซียแล้ว ยังมีมาตรการของประเทศฟิลิปปินส์และอินเดีย ที่ต้องจับตามองซึ่งกำลังจะออกมาส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย เช่น ฟิลิปปินส์กำหนดให้ต้องปิดฉลากประหยัดพลังงานเพื่อแสดงประสิทธิภาพพลังงานที่ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ และหลอดไฟ ตามกฎระเบียบที่ฟิลิปปินส์กำหนด ซึ่งได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการศึกษารายละเอียดก่อนที่จะดำเนินการส่งออกสินค้า เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบมาตรการของประเทศนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง สำหรับอินเดียได้ประกาศห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่บรรจุสารทำความเย็นแล้ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเรียบร้อยแล้วไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้มีปริมาณสินค้าตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในเรื่องนี้ สมอ. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะได้หารือกับอินเดีย แล้วหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวต่อไป” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

 

#อินโดนีเซีย ลดการนำเข้าสินค้า ผลกระทบไทย #อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ 2564 #อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า 2564 #อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2564 #สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #สมอ. #องค์การการค้าโลก WTO

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH