กสอ. ดันยุทธศาสตร์ “อุตสาหกรรมอัจฉริยะ” ทางรอดภาคการผลิตรับเศรษฐกิจโลกใหม่

กสอ. ดันภาคเกษตรใช้ระบบออโตเมชัน สู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ ทางรอดรับเศรษฐกิจโลกใหม่

อัปเดตล่าสุด 26 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 515 Reads   

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งปรับอุตสาหกรรมปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกใหม่ผ่านการใช้ระบบออโตเมชัน ลดความสูญเสียในภาคการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำร่องสั่งการศูนย์ ITC 4.0 จังหวัดอุบลราชธานี จับคู่ ผู้ประกอบการเทคโนโลยีอัจฉริยะกับผู้ประกอบการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พัฒนาศักยภาพการผลิต ผ่านเทคโนโลยีระบบออโตเมชัน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิต สู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ คาดจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 10-15%

นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะไม่มีอุตสาหกรรมใดสามารถดำเนินการได้ในรูปแบบเดิม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงเร่งส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม โดยหนึ่งในแนวทางที่สำคัญ คือ การพัฒนาไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะผ่านกระบวนการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนากระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมาตรฐาน ลดของเสียในกระบวนการผลิตผ่านการใช้เครื่องมือ และโปรแกรมระบบออโตเมชัน ซึ่งสามารถควบคุมข้อมูลการผลิตได้แบบเรียลไทม์ ทั้งยังสามารถรับทราบข้อบกพร่องและดำเนินการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังสามารถลดความเสี่ยงอันเกิดจากการทำงานในพื้นที่อันตราย และช่วยให้การเก็บข้อมูลมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 10-15%

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย นำเข้าเครื่องมือและเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง และถูกผลิตมาในรูปแบบกึ่งสำเร็จรูป โดยเมื่อนำมาติดตั้งในโรงงานและใช้วิธีการปรับแต่งเครื่องมือบางส่วนตามความต้องการของผู้ประกอบการ ทำให้เกิดความสูญเสียจากกระบวนการทดสอบระบบ อีกทั้ง เครื่องจักรกลออโตเมชันที่นำเข้า ไม่สอดรับกับพื้นที่ของภาคอุตสาหกรรมเดิม โดยล่าสุดได้นำร่องให้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ ศูนย์ ITC 4.0 ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการ บูรณาการความร่วมมือกับ บริษัท อาร์เอสที โรโบติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยที่มีศักยภาพในด้านเทคโนโลยีระบบออโตเมชัน โดยมุ่งหวังให้เป็น System Integrator หรือ SI เพื่อเป็นพี่เลี้ยงในการถ่ายทอดหรือดูแลด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับผู้ประกอบการอื่น ๆ


 

นายอินทัช  อนุพรรณสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอสที โรโบติกส์ จำกัด (RST Robotic) ระบุว่า บริษัทฯมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบระบบออโตเมชันสำหรับภาคการเกษตร โดยเฉพาะกระบวนการแปรรูปที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เนื่องจากมีประสบการณ์กว่า 30 ปี ในการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตร จึงเข้าใจกระบวนการและอุปสรรค์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยได้คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นของตนเอง ทำให้งานที่ออกแบบระบบฯ หรืองานด้าน SI มีความหลากหลายยืดหยุ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผ่านโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ สู่การบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ โครงการยระดับศักยภาพผู้ประกอบการด้วย Digital Training สู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น และยังเกิดการสร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ
 
นายอินทัช กล่าวว่า จากการให้บริการวางระบบออโตเมชันให้กับผู้ประกอบการเกษตรในประเทศไทย พบว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตที่แต่ละบริษัทต้องการรักษาความลับ การขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าการค้า อุตสาหกรรมกลุ่มนี้จึงเริ่มเข้าสู่จุดอิ่มตัว เนื่องจากต้องเผชิญกับแรงกดดัน จากประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงและประเทศกำลังพัฒนารายใหม่ที่มีทรัพยากรได้เปรียบกว่า มีค่าแรงที่ถูกกว่า เกิดการแย่งฐานการผลิตเพื่อส่งออกและเป็นคู่แข่งในตลาดโลก โดยบริษัทฯ ต้องการการสนับสนุน จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อการประสานงานระหว่างบริษัทฯ และผู้ประกอบการเกษตรที่มีความต้องการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตที่มีคุณภาพ ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยขับเคลื่อนไปสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ