เปิดตัว ALL_Thailand นำร่อง 3 โครงการย่อยในไทย จัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืน

เปิดตัว ALL_Thailand นำร่อง 3 โครงการย่อยในไทย จัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืน

อัปเดตล่าสุด 15 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 471 Reads   

 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ PPP Plastics และ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) จัดพิธีเปิดตัว “โครงการ ALL_Thailand เพื่อการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน” โดยมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธาน PPP Plastics และ มิสเตอร์เจค็อบ ดูเออร์ (Mr. Jacob Duer) ประธานบริหาร Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ร่วมเป็นประธานในพิธี เมื่อวันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา 

ภายในงานมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้บริหารจากหน่วยงานผู้สนับสนุนหลัก PPP Plastics ได้แก่ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย, ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และบริษัท สุเอซ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมด้วย

Advertisement

โครงการ ALL_Thailand มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาต้นแบบและนวัตกรรมในการนำพลาสติกที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ประโยชน์และป้องกันพลาสติกเหล่านั้นหลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม โดยเน้นการสร้างต้นแบบการจัดการตั้งแต่ต้นทางทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น จนถึงระดับจังหวัด ในทุกไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงระบบและนวัตกรรมที่จะช่วยนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จภาครัฐสามารถนำไปขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของทางภาครัฐและ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย

โดย ALL_Thailand ได้รับทุนสนับสนุนจาก AEPW เพื่อดำเนินงาน 3 โครงการย่อยในประเทศไทย ได้แก่ โครงการ Eco Digiclean Klongtoei (อีโคดิจิคลีนคลองเตย) โครงการ Rayong Less-Waste (ระยองลดขยะ) และโครงการ Paving Green Roads (เพฟวิ่งกรีนโรด) โดยมีระยะเวลาดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 2 ปี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตร Alliance to End Plastic Waste (AEPW) และ PPP Plastics เพื่อดำเนินโครงการในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้เกิด Business Model ในการจัดการขยะ และสามารถนำไปขยายผล ในวงกว้าง เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ มีความพร้อมในการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการขยะให้ครบวงจร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกใช้แล้วในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำไปใช้สำหรับงานสร้างถนนซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ให้ประเทศไทยมีแนวทางในการจัดการขยะพลาสติกตลอด Supply Chain สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในอนาคต

ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธาน PPP Plastics กล่าวว่า โครงการ ALL Thailand ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย โดยโครงการอีโคดิจิคลีนคลองเตย Eco Digiclean Klongtoei เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิตอล มาช่วยในการบริหารจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เช่น การสร้าง Application เพื่อช่วยบริหารจัดการขยะ การพัฒนาถังขยะรูปแบบใหม่กึ่งอัตโนมัติ เพื่อช่วยแยกขยะประเภทพลาสติก เพื่อเพิ่มมูลค่าของขยะพลาสติก ในส่วน Rayong Less-Waste หรือ ระยองลดขยะ จะเป็นการขยายโมเดลการจัดการขยะระดับชุมชนและท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนไปให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดระยอง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างชุมชนตัวอย่างในทั้ง 68 เทศบาลของจังหวัดระยอง เพื่อช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไปหลุมฝังกลบในระยองที่นับวันจะมีพื้นที่ลดน้อยลง และ โครงการ Paving Green Roads (เพฟวิ่งกรีนโรด) เป็นโครงการศึกษาวิจัยเพื่อนำพลาสติกใช้แล้วมาเป็นส่วนผสมในถนนยางมะตอยอย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับหลายประเทศ และในประเทศไทย เราได้ร่วมทำงานกับคณะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของการทำถนนที่มีส่วนประกอบของพลาสติกใช้แล้ว ทั้งในด้านอากาศและน้ำ รวมทั้งคุณสมบัติความแข็งแรงทนทาน และศักยภาพในการนำถนนพลาสติกที่ถูกรื้อถอนกลับมารีไซเคิลเพื่อสร้างเป็นถนนใหม่ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างถนนของประเทศไทยในอนาคตต่อไป

มิสเตอร์เจค็อบ ดูเออร์ (Mr. Jacob Duer) ประธานและซีอีโอ Alliance to End Plastic Waste กล่าวว่า “ทั้ง 3 โครงการนี้มีเป็นตัวอย่างของกิจกรรมในพื้นที่ ที่มีเอกลักษณ์พิเศษที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อนำทั้ง 3 โครงการมารวมกันภายใต้โครงการ ALL_Thailand จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่จะช่วยกระจายความรู้ สร้างความเข้าใจ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในชุมชน สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ AEPW ที่ต้องการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและหยุดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สายงานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม ภายใต้สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะพลาสติก    พร้อมเป็นตัวแทนภาคธุรกิจร่วมกำหนดมาตรฐานขวด PET พลาสติก จากรูปแบบขวดสี สู่ขวดใส เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำขวดพลาสติกนำกลับมารีไซเคิลได้ใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมให้เกิดการจัดเก็บขวดพลาสติกที่ใช้แล้วเข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับทิศทางเทคโนโลยีในอนาคต ด้วยภารกิจการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model)

ขณะที่ นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow เห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืน จึงร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง PPP Plastics ตั้งแต่ปี 2560 และขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ภายใต้ PPP Plastics รวมทั้งโครงการ ALL-Thailand ในครั้งนี้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการจัดการขยะพลาสติกตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม DOW ยินดีให้การสนับสนุนโครงการและทำงานร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายเพื่อให้โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง”

ส่วนทางเอสซีจี นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า “ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)  โดยตระหนักถึงผลกระทบของพลาสติกใช้แล้วที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จึงได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาขับเคลื่อนการทำธุรกิจ มุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการพลาสติกตลอดทั้งวงจรอย่างใส่ใจและรับผิดชอบ โดยมีการดำเนินการ 3 ด้านหลัก คือ 1) การสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน 2) การประยุกต์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ครอบคลุมทุกมิติของการทำธุรกิจ 3) การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างองค์กรและกับทุกภาคส่วน เพื่อดูแลและร่วมสร้างการเติบโตให้กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”

ด้าน ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “GC หนึ่งในบริษัทผู้ก่อตั้ง PPP Plastics มีความยินดีที่ PPP Plastics สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตร Alliance to End Plastic Waste ในการแก้ปัญหาเพื่อลดปริมาณพลาสติกที่ใช้แล้วบนพื้นฐานของการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และหลักการ 3Rs บริษัทฯ เห็นความสำคัญของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากพลาสติกที่ใช้แล้ว จึงนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้  เพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค ในรูปแบบที่หลากหลาย บริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือในการศึกษา พัฒนาการวิจัย และนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะพลาสติกให้สอดคล้องกับแนวทาง BCG เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคน GC หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือกับ PPP Plastics และพันธมิตร จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้วอย่างเป็นระบบ และส่งผลให้โครงการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายที่วางไว้ ในการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายใน ปี 2570”

ทางด้านของ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด โดย นายนภดล ศิวะบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กล่าวว่า “ปัญหาขยะพลาสติกเป็นความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่หลวงสำหรับทุกภาคส่วน เนสท์เล่ ในฐานะบริษัทอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลก เราตระหนักดีถึงบทบาทและหน้าที่สำคัญของเราในฐานะผู้ผลิตที่ต้องมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่อนาคตที่ปลอดขยะ เนสท์เล่ได้มีการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ของเราให้สามารถนำไปรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนั้นแล้ว เรายังเล็งเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และยินดีที่จะให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบโดยเร็ว”

ส่วนทาง Mr. Stephane Heddesheimer, CEO ของ กลุ่มรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่ ของสุเอซ เอเชีย กล่าวว่า "การรีไซเคิลพลาสติก มีบทบาทสำคัญในการเร่งให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ของประเทศไทย และวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน บริษัท สุเอซ มุ่งมั่นที่จะ รีไซเคิลพลาสติก และเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานสำหรับประเทศไทย และยังคงร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย PPP Plastics และกลุ่มพันธมิตร ตลอดจนผู้นำอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด ในการยุติขยะพลาสติก และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของเราจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม   ความหลากหลายทางชีวภาพ และชุมชนของเรา”

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH