ม.หอการค้าไทย เปิดหลักสูตร TEPCIAN รุ่น 2 พาธุรกิจไทยเข้าตลาดจีน
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง (BLCU) เปิดตัวหลักสูตร TEPCIAN (Top Executive Program on China Business Insights and Network) รุ่นที่ 2 หรือ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านองค์ความรู้และความร่วมมือทางธุรกิจจีน ที่นำเอาความสุดยอดขั้นเซียนของแต่ละองค์กร มาบูรณาการร่วมกันจนกลายเป็นหลักสูตรที่จะเชื่อมเครือข่ายธุรกิจ สานสัมพันธ์ไทย-จีน ให้เกิดความเข้าใจอันดี และมีการต่อยอดทางธุรกิจระหว่างกัน
วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยมีมุมมองว่า เศรษฐกิจจีนมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก และประเทศจีนก็ยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ซึ่งการค้าระหว่างไทยและจีนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 65) มีมูลค่ากว่า 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.2% โดยการส่งออกขยายตัว 1.57% ส่วนการนำเข้าขยายตัว 13.59% นอกจากนั้น ในด้านการลงทุนของจีนในไทย เมื่อปี 2564 มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าในปี 2565 เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายก็จะทำให้การลงทุนของจีนในไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยมิตรภาพอันดีระหว่างไทยและจีน อีกทั้งไทยยังมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเข้ามาอยู่อาศัยและทำธุรกิจ
“แม้ว่าเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 2 จะเติบโตได้น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เนื่องจากมีการล็อคดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจภายในของจีนยังมีความแข็งแกร่งอยู่มาก ตัวเลขหลายอย่างของจีน เช่น การค้าปลีก และการส่งออก ยังคงเติบโตได้ดี ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตได้อีกมากในอนาคต” นายสนั่น กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเรียนการสอนของหลักสูตร TEPCIAN จะเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้และวิสัยทัศน์ เรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากผู้บริหารและผู้ประกอบการที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในไทยและจีน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน สามารถเสริมสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ด้านการค้า และการพาณิชย์ระหว่างผู้บริหารระดับสูง ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งไทยและจีน โดยเริ่มเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีน เรื่อยมาจนถึงนโยบายการสร้างชาติจีนใหม่ โครงสร้างการบริหารประเทศ ตลอดจนการเติบโตทางธุรกิจและเทคโนโลยี นอกจากนั้น ยังเป็นหลักสูตรที่เน้นพัฒนาผู้เรียนให้สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ในชีวิตประจำวัน เข้าใจวัฒนธรรมจีน ตลอดจนสร้างความประทับใจในการร่วมมือทางธุรกิจกับจีนได้
- ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย มิ.ย. 65 เพิ่มขึ้นครั้งแรกรอบ 6 เดือน
- ลมเปลี่ยนทิศ สงครามรัสเซียหนุน ‘จีน’ ส่งออกโลหะพุ่ง
- ธนาคารโลก หั่น GDP 2022 เศรษฐกิจโลก - ไทย ขยายตัวแค่ 2.9%
ด้านนางสาวฐิตินันท์ วัธนเวคิน ผู้อำนวยการร่วมหลักสูตร TEPCIAN และผู้แทนจาก BLCU กล่าวว่า ด้วยความร่วมมือของทั้ง 3 องค์กร เชื่อว่าหลักสูตร TEPCIAN เป็นหลักสูตรหนึ่งเดียวที่รวมองค์ความรู้และการเชื่อมเครือข่ายธุรกิจไว้ในที่เดียวกัน ที่สามารถสร้างโอกาสต่อยอดทางสร้างธุรกิจระหว่างไทย และ จีน ให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งทาง BLCU มีความเชี่ยวชาญในการสอนภาษาจีนเพื่อธุรกิจสำหรับชาวต่างชาติมาอย่างยาวนาน จึงมั่นใจได้ว่า ผู้เรียนจะได้รับประโยชน์จากการเรียนภาษาจีนอย่างแน่นอน
พิธีเปิดหลักสูตรในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก Mr. Yang Xin อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานทูตจีนประจำประเทศไทย มาบรรยายในหัวข้อ “China’s Direction After the Covid-19” กล่าวว่า ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จีนมีนโยบายการรับมือที่เรียกว่า Dynamic Zero-COVID Policy โดยมุ่งเน้นการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกอย่างทันท่วงที การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด และเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้เร็วที่สุด ด้วยต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อเป็นการปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชน และลดผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ได้มากที่สุด และจากมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของประชาชนและธุรกิจในเซี่ยงไฮ้กลับมาเป็นปกติอย่างเต็มรูปแบบ นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลจีนสูงถึง 91% ติดอันดับ 1 ของโลก สูงสุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 จีนได้มีส่วนสนับสนุนมาตรการการรับมือโควิด-19 ของไทย ได้แก่ การสนับสนุนวัคซีนมากถึง 50.85 ล้านโดส และได้บริจาคเวชภัณฑ์เพื่อสนับสนุนมาตรการการป้องกันและรับมือกับโควิด-19 แก่ประเทศไทย มูลค่ากว่า 10 ล้านหยวน
Mr. Yang Xin ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ตลอดจนภาพรวมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพิ่มเติมว่า “นอกจากความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศในการสนับสนุนการมาตรการการรับมือโควิด-19 ประเทศไทยยังมีบทบาทและความสำคัญต่อประเทศจีน ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน คือเป็นประเทศแรกที่ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ว่าด้วยเรื่องความร่วมมือในศตวรรษที่ 21 กับจีน เป็นประเทศแรกที่สร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับจีน เป็นประเทศแรกที่ตกลงลดภาษีผักและผลไม้เป็น 0 กับจีน เป็นประเทศแรกที่ก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมจีน เป็นประเทศแรกที่ก่อตั้งกลไกการหารือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศกับจีน และมีการฝึกซ้อมร่วมกัน ตลอดจนเป็นประเทศแรกที่มีสถานกงสุลมากที่สุดในจีน อนึ่ง จากการที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเยือนเมืองหวงซาน มณฑลอานฮุย ประเทศจีน ตามคำเชิญของ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน นำไปสู่ข้อสรุปจากการหารือร่วมกันถึงทิศทางความสัมพันธ์ทางการทูต คือการร่วมกันสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน การเปิดทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ร่วมกันคุ้มครองความมั่นคงทางไซเบอร์ และร่วมกันผลักดันการประชุม APEC ให้บรรลุผล”
ในปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างจีน-ไทย อยู่ที่ 131.180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 33% และจีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกัน 9 ปี ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจีนในอาเซียน ด้านมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรจีน-ไทย 16.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 12.6% ของมูลค่าการค้าจีนไทยทั้งหมด ในขณะที่พืชผลทางการเกษตรอย่างการส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีน เพิ่มขึ้น 82% ลำไยเพิ่มขึ้น 71% มังคุดเพิ่มขึ้น 37% และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 117%
“ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งสองประเทศต่อไป ในการพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แน่นแฟ้น เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-จีน ร่วมกันสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคต่อไปในอนาคต” อัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย กล่าวปิดท้ายการบรรยาย
ผู้สนใจหลักสูตร TEPCIAN คลิก: http://tepcian.utcc.ac.th/
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH