หลักสูตร “Digital Manufacturing Program” โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วม สถาบัน SIMTec ส่งมอบ 150 บุคลากรด้านการผลิตสมัยใหม่สู่ตลาด

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วม สถาบัน SIMTec ส่งมอบ 150 บุคลากรด้านการผลิตสมัยใหม่สู่ตลาด ผ่านหลักสูตร Digital Manufacturing Program

อัปเดตล่าสุด 28 ก.ย. 2563
  • Share :

มุ่งค้นหาปัญหา แนวทางการวางแผน และตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs เเละให้ความรู้แก่ผู้ว่างงาน นักศึกษาจบใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรม

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (SIMTec) จัดอบรมหลักสูตร “Digital Manufacturing Program” โดยสนับสนุนงบประมาณสำหรับบุคลากรจากสถานประกอบการ ผู้ว่างงาน และนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องการ Upskill / Reskill ด้านการผลิตสมัยใหม่ ระหว่างวันที่ 13 สิงหาคม – 8 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ระยะเวลาอบรมรวม 6 วันเต็ม แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ๆ ละ 30 คน รวมผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 150 คน ณ สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล (SIMTec) นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง

กสอ. และสถาบัน SIMTec เล็งเห็นความสําคัญของปัญหาด้านการผลิตที่เกิดขึ้นภายในสถานประกอบการ การค้นหาปัญหาจากหน้างานจริงเพื่อนําข้อมูลต่าง ๆ มาสู่การวางแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยระบบ IoT แบบเบื้องต้นอย่างง่าย (Small Start) ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs ของไทย โดยนำหลักการของ Lean Manufacturing มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการวางระบบ IoT เพื่อลดความสูญเปล่าจากหน้างานได้อย่างมีคุณภาพด้วยการใช้ระบบเซนเซอร์ การดึงข้อมูลที่จําเป็นต่อการปรับปรุง และลงทุนอย่างเป็นระบบ ผู้เข้าอบรมล้วนได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ใน 3 รายวิชา ได้แก่

Smart Monozukuri หลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่

เป็นหลักสูตรที่ประยุกต์หลักการและเทคนิคการผลิตแบบญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Kaizen) มาผสมผสานกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ มาพัฒนาสายการผลิตแบบ Small Start โดยเริ่มจากการวินิจฉัยกระบวนการผลิต ณ ปัจจุบัน สรุปประเด็นปัญหา จัดการเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์ของปัญหาในแต่ละส่วนในสายการผลิตเป็นแผนผัง (AS-IS) จากนั้นทำการวางแผนการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลหรือเทคโนโลยีอัตโนมัติที่คาดหวังมาเป็นการแผนผังการปรับปรุง โดยทำการคาดการณ์ประโยช์นที่ได้รับ (To-Be) แล้วเลือกส่วนที่ปฏิบัติได้จริงจากเทคโนโลยีในปัจจุบันมาเริ่มปฏิบัติให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด

Lean IoT System หลักสูตรการวางระบบ IoT ตามเเนวทางของลีน

หลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อหัวหน้างาน วิศวกรในสายการผลิต หรือบุคคลที่ต้องการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับระบบ Factory Automation และ IoT เนื้อหามุ่งเน้นการวางระบบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภาพของสายการผลิตด้วยหลักการของ TPM ในระบบ ผู้เรียนจะรู้ถึงเทคนิคการเก็บข้อมูลจากสัญญาณพื้นฐานต่าง ๆ การรับส่งข้อมูล การเชื่อมต่อไปจนถึงการจัดเก็บข้อมูล (Database) และแสดงผล (Data Visualization) เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

Factory IoT Data Management หลักสูตรการจัดการเเละบริหารข้อมูลในระบบ IoT

หลักสูตรการเรียนรู้เชิงลึกสำหรับวิศวกรด้านเทคนิค System Integrator หรือ SI โดยเข้าถึงวิธีการต่อสัญญาณและเชื่อมโยงข้อมูลจาก Sensor, PLC, Middleware ไปจนถึง Cloud Computing โดยเรียนรู้อย่างเป็นระบบตั้งแต่การรับข้อมูลจากอุปกรณ์ต่าง ๆ (Data Collection) การเชื่อมต่อและการแปลงสัญญาณทางไฟฟ้าเป็นข้อมูล (Data Communication) และการประมวลผลข้อมูลมาเป็นแผนภูมิการแสดงผลรูปแบบต่าง ๆ (Data Visualization) สำหรับการวิเคราะห์และพัฒนาสายผลิต (Data Analysis) ตามหลักการของระบบการผลิตแบบลีน

การฝึกอบรมได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จากการทดสอบและประเมินผล ผู้เข้ารับการอบรมต่างก็ได้รับความรู้ความเข้าใจระบบการผลิตสมัยใหม่เป็นอย่างดี สามารถนำไปปรับปรุงพัฒนางานของตนและเตรียมพร้อมเข้าไปทำงานสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้สังกัดหน่วยงานใด ๆ

ในส่วนของผู้เข้ารับการอบรมจากสถานประกอบการก็ได้มีการนำไปปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตจริงตามความต้องการของแต่ละแห่ง ทีมผู้สอนจึงได้เข้าไปดำเนินการต่อยอดการอบรมโดยเข้าไปให้คำปรึกษา (Line Assessment) ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วหลายสถานประกอบการ เเละจะทะยอยเข้าไปดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการทำงานวิถีใหม่พัฒนาสู่ Industry 4.0  โครงการนี้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะความรู้ โดยเกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้นี้