344-ภาษีรถยนต์-สรรพสามิต-อุตสาหกรรมรถยนต์

สรรพสามิตรับลูกหั่นภาษี 50% ลดคันละแสนฟื้นอุตรถยนต์

อัปเดตล่าสุด 26 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 550 Reads   

อธิบดีสรรพสามิตรับลูกลดภาษีรถยนต์ 50% หลังสภาอุตฯชง 3 แนวทางฟื้นตลาดรถยนต์ ระบุทรุดหนักทั้งยอดผลิต-ยอดขายตกต่ำสุดในรอบ 30 ปี “สุริยะ” เตรียมเรียกคุยทุกค่ายสั่งลูกทีมสำรวจสต๊อก ขีดกรอบระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ ค่ายรถชี้ผู้บริโภคซื้อถูกลงคันละ 4 หมื่นถึงแสนบาท

สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างรุนแรงทั้งยอดผลิตและยอดขาย ทำให้กลุ่มยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมฯจำเป็นต้องหามาตรการช่วยเหลือสมาชิก ทั้งผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งมีมากกว่า 20 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 600 ราย และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอีกเป็นพันราย

ชง 3 แนวทางแก้วิกฤต

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถิติการผลิตรถยนต์เดือนเมษายน ซึ่งทำได้เพียง 24,711 คัน หดตัวลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 83.55% รวมถึงยอดขาย 4 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) ซึ่งมีกำลังซื้อแค่ 230,173 คัน ลดลงจากปี 2562 ถึง 34.17% ตกต่ำสุดในรอบ 30 ปี ทางกลุ่มจึงได้ยื่นข้อเสนอขอความช่วยเหลือรัฐบาลจากผลกระทบโควิด ผ่านนายดิสทัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร เลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็นหลัก

มาตรการแรก รถเก่าแลกรถใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มรถยนต์เก่าที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มรถที่ซึ่งเป็นต้นเหตุของมลพิษ หากนำมาแลกซื้อรถยนต์ใหม่ในกลุ่มรถยนต์ประเภทไฮบริด,ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี ขอให้รัฐบาลส่งเสริมให้มูลค่า 100,000 บาท ซึ่งอาจจะออกมาในรูปแบบของคูปองเพื่อไปแลกซื้อกับค่ายรถยนต์เป็นการจูงใจ

ข้อสอง เสนอขอเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 และ 6 ซึ่งตามแผนเดิมเริ่มบังคับใช้ในปี 2564 สำหรับยูโร 5 และยูโร 6 ในปี 2565 โดยให้เลื่อนออกไปก่อน เพราะการปรับมาตรฐาน ผู้ผลิตจำเป็นต้องมีการลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงก็ยังไม่พร้อม

และข้อสาม ขอให้รัฐบาลช่วยลดภาษีสรรพสามิตทุกประเภท 50% ไปจนถึงสิ้นปี 2563 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนและกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคจากราคาขายที่ต่ำลง

อุตฯปัดข้อเสนอรถเก่าแลกใหม่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตฯ กำลังพิจารณา แต่คงต้องดูผลกระทบให้รอบด้าน เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งนี้จะมีการเรียกค่ายรถยนต์พูดคุยรายละเอียดกันอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ภาคเอกชนได้เคยเสนอขอความช่วยเหลือประเด็นรถเก่าแลกรถใหม่มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมองว่ายังไม่ตรงกับเป้าหมายของรัฐบาลที่พยายามผลักดันรถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า เนื่องจากในข้อเสนอยังมุ่งเน้นไปที่กลุ่มรถไฮบริดซึ่งยังมีเครื่องยนต์อยู่ด้วย

คลังรับลูกสั่งทีมศึกษาด่วน

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอ ยอมรับว่าการช่วยเหลือดังกล่าวมีความเป็นไปได้ เนื่องจากหากผู้ประกอบการขายรถไม่ได้ ภาครัฐก็ไม่มีรายได้ภาษีอยู่ดี ซึ่งหากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือ แล้วผู้บริโภคได้ประโยชน์จากราคาขายรถที่ถูกลง และผู้ประกอบการสามารถขายรถได้ ก็น่าจะไม่มีปัญหา

“การลดภาษีช่วยเหลือก็มีความเป็นไปได้ เพราะถ้ารถขายไม่ออกก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี แต่ถ้าเราทำแล้ว ผู้บริโภคได้ซื้อรถในราคาที่ลดลง แล้วผู้ประกอบการขายรถได้ เราก็โอเค อย่างน้อยก็ทำให้มีรายได้เข้ามา อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ก็จะพยายามหาข้อสรุปให้ได้เร็ว ๆ นี้” นายพชรกล่าว

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า มาตรการที่จะช่วยเหลือคงต้องมีขอบเขตเงื่อนไข เช่น การกำหนดระยะเวลาที่จะได้รับการลดภาษี และกำหนดปริมาณรถที่จะได้สิทธิลดภาษี เป็นต้น โดยสำหรับรถยนต์ที่มีการจำหน่ายไปแล้วก็คงไม่เข้าข่าย แต่รถยนต์ที่ผู้ประกอบการนำออกจากเขตปลอดอากร (ฟรีโซน) แล้วนำไปจอดไว้ที่โชว์รูม และมีการจ่ายภาษีเรียบร้อยแล้ว แต่จำหน่ายไม่ได้เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด ก็อาจจะพิจารณาช่วยเหลือในส่วนนี้ด้วย ซึ่งบางกรณีอาจจะให้มีการขอคืนภาษีได้

“ถ้าจะลดก็ต้องลดให้รถยนต์ใหม่ หรือบางส่วนถ้าจะต้องมีขอคืนภาษีได้ อย่างพวกรถที่นำออกจากฟรีโซนไปอยู่โชว์รูมแล้ว แต่ขายไม่ได้ ทั้งหมดนี้ต้องสำรวจก่อน” นายพชรกล่าว

ส่วนการจัดเก็บรายได้ภาษีรถยนต์ช่วงที่ผ่านมานั้น อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา กรมมีมาตรการขยายเวลาชำระภาษีจนถึงวันที่ 15 ก.ค.นี้ ดังนั้นคงต้องไปประเมินหลังจากนั้นอีกทีว่า รายได้ปีนี้จะเป็นอย่างไร แต่เบื้องต้นแนวโน้มรายได้ก็คงลดลง ตามแนวโน้มยอดจำหน่ายรถยนต์ในปีนี้ที่ชะลอตัวค่อนข้างมาก

ซื้อรถถูกลง 4 หมื่น-1 แสน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการประเมินของกลุ่มยานยนต์ระบุว่า หากกระทรวงการคลังเห็นชอบให้ผู้ผลิตรถยนต์ได้รับการดูแล คิดภาษีสรรพสามิตเพียงครึ่งเดียว ก็จะมีผลให้ต้นทุนในการผลิตรถยนต์ต่ำลง ราคาขายปลีกก็จะถูกลดลงตามไปด้วย คาดว่าราว ๆ 40,000-100,000 บาท ซึ่งก็น่าจะทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเป็นเจ้าของรถง่ายขึ้น

 

อ่านเพิ่มเติม: