คาร์บอนเครดิต รัฐ-เอกชน เทรนด์ “พลังงานสะอาด” ลดต้นทุน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

ส.อ.ท. ร่วม กฟภ. จับมือพัฒนา Renewable Energy และ Carbon Credit รับเทรนด์โลกใหม่

อัปเดตล่าสุด 14 มี.ค. 2565
  • Share :
  • 1,325 Reads   

ส.อ.ท. ร่วม กฟภ. จับมือรับเทรนด์โลกใหม่ “พลังงานสะอาด” พัฒนา Renewable Energy (RE) และ Carbon Credit ลดต้นทุนสู้แข่งขัน นำร่องการใช้พลังงานสะอาดผลิตสินค้าส่งออกให้เป็นไปตามกติกาโลกด้านสิ่งแวดล้อมแบบ Non-Tariff Barrier 

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2565 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จับมือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประกาศโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) และ Carbon Credit เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและการรับรองการผลิตไฟฟ้า RE และ Carbon Credit โดยเชื่อมต่อกับ Platform ของ ส.อ.ท. เพื่อให้สามารถใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้ RE ตลอดจนขยายผลการศึกษาและการพัฒนาไปสู่โครงการอื่น ๆ ต่อไป เช่น โครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 ในการตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของการค้าการส่งออกของประเทศไทยเป็นสำคัญ

โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และประธานคณะทำงานส่งเสริมและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์  ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการฯ ณ ห้อง PTT GROUP (1012) ชั้น 10 สภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าของระบบพลังงานหมุนเวียนที่ลดลง ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีความต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ยังถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต และการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนควรที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สอดคล้องกับกติกาโลกใหม่ และบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนพลังงานทดแทน ให้มีสัดส่วน 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศภายในปี 2030 รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการลงนาม “บันทึกข้อตกลงโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิต” เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและการรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิตโดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของสภาอุตสาหกรรมฯ ผ่านโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 โดยการริเริ่มและสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้สามารถใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือในโครงการนำร่องฯ ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามที่ได้กล่าวมา

นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพลังงานมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วการศึกษาพัฒนาโครงการนําร่องด้านพลังงานหมุนเวียน โดยการจัดทําฐานข้อมูล การรับรอง การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และ Carbon Credit โดยการนําระบบแพลตฟอร์มมาบูรณาการ เพื่อใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการขยายผลการศึกษาไปสู่โครงการอื่น ๆ จะช่วยให้ภาพรวมของประเทศไทย มีศักยภาพ ด้านการผลิต และการให้บริการด้านพลังงานสูงขึ้น ทั้งนี้การร่วมมือระหว่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมเอกชนของประเทศไทยที่มีบทบาททางด้านการส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรมชั้นนำของผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของทั้ง 2 หน่วยงานในการร่วมกันแสวงหาแนวทางในการศึกษาและสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และประธานคณะทำงานส่งเสริมและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม ได้จัดทำสรุปรายงานเรื่องนี้ว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการไทยทั้งภาคการผลิตและภาคการค้าที่กำลังจะประสบปัญหากลไกด้านสิ่งแวดล้อมแบบ Non-Tariff Barrier ที่ส่งผลให้ความต้องการ การใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก เกิดธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลาย และยังมีความท้าทายที่ต้องการการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในครั้งนี้ผ่านโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ริเริ่มสนับสนุนและผ่อนคลายกฎระเบียบให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถซื้อขายไฟฟ้าข้ามสายส่ง และเปิดการอนุญาตทดลองกติการูปแบบใหม่ ๆ เพื่อทดลองแนวทางที่เหมาะสมที่สามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับธุรกิจต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของสากล โดยโอกาสในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคสังคมคาร์บอนต่ำ

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า โครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการทดสอบทางเทคโนโลยีด้านพลังงานในสภาพแวดล้อมของการใช้งานจริงในพื้นที่และขนาดที่จำกัด อีกทั้งเพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทั้งในรูปแบบเปิดกว้างและแบบมุ่งเป้าในด้าน Green Innovation และ Green Regulation ทั้งนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจการให้บริการทางด้านพลังงานรูปแบบใหม่ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงบริการด้านพลังงาน ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้นในราคาที่เหมาะสม

ด้าน นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้กล่าวถึงนโยบายของ สอวช. และการสนับสนุนการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโดยแบ่งเป็น 6 หลักสูตรคือ 1) Design Principle: Passive & Active Design, 2) Energy Efficiency, 3) Renewable Energy, 4) 3R + 1W + 1C, 5) Carbon Credit Certificate, 6) Carbon Credit/RE Platform ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2565

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH