Aluminium,อะลูมิเนียม, ภาษีคาร์บอน, อุตสาหกรรมอะลูมิเนียม, ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะลูมิเนียม, Carbon Neutrality, ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน, EU, ก๊าซเรือนกระจก, สิ่งแวดล้อม, CBAM EU

เอ็มเทค สวทช. ร่วม ส.อ.ท. จัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตฯ เหล็ก รองรับมาตรการ CBAM

อัปเดตล่าสุด 9 ก.พ. 2567
  • Share :
  • 526 Reads   

เอ็มเทค สวทช. ลงนามร่วม ส.อ.ท. จัดทำฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) ของกระบวนการผลิต รองรับมาตรการ CBAM 

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567  - ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย รศ.ดร. เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการเอ็มเทค ลงนามความร่วมมือการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อรองรับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ร่วมกับนายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวแสดงความยินดีในครั้งนี้

การลงนามครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินวัฏจักรชีวิต หรือ Life Cycle Assessment (LCA) ของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยประเมินจากข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อม หรือ Life Cycle Inventory (LCI) เก็บข้อมูลจริงจากโรงงาน (Field Collection) และใช้แบบจำลองในการศึกษาจากข้อมูลที่เก็บได้ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อเป็นตัวแทนของข้อมูลภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยทีมวิจัยและบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 7 โรงงาน ประกอบด้วยเหล็กแผ่น 4 โรงงาน ท่อเหล็ก 1 โรงงาน ลวดเหล็ก 1 โรงงานและเหล็กรูปพรรณ 1 โรงงาน ซึ่งจะร่วมกันศึกษารายการสารขาเข้าและสารขาออกของแต่ละกระบวนการผลิต เพื่อวิเคราะห์ส่วนที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาในแต่ละกระบวนการ อันเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ตลอดจนสามารถทราบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการผลิตรวมถึงผลพลอยได้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกระบวนการผลิตในอนาคต ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 ต่อไป

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ปัจจุบันนี้ แนวโน้มและทิศทางของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมีการแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การบริหารจัดการต้นทุนในกระบวนการผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอุตสาหกรรมจะเข้าสู่ “Green Steel” ที่จะต้องเน้นความยั่งยืน (Sustainability) พลังงานสะอาด (Green) และรักษ์โลก (Green) หนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ มาตรการ CBAM (Carbon Boarder Adjustment Mechanism) ซึ่งทาง EU ได้ประกาศใช้แล้วช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการที่มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปไปสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ในปี 2566 มีมูลค่า 2,466 ล้านบาท  และมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4.3% จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยผู้ประกอบการจะต้องหาแนวทางเพื่อปรับรูปแบบการผลิต การผลิต เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว

“สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมไทยยกระดับภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย ONE FTI จากอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) ที่ประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 11 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 76 จังหวัด สู่อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-Gen Industries) ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  โดย ส.อ.ท. มีการจัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Institute: CCI) เพื่อให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับ Carbon Footprint of Product (CFP) และ Carbon Footprint for Organization (CFO) นำเสนอความเห็นต่อภาครัฐเพื่อให้ประเทศไทยเตรียมความพร้อมต่อมาตรการสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ เช่น CBAM มีการจัดทำ FTIX แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ส.อ.ท. เห็นว่า หากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มีการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตและการพัฒนาต่อยอดเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนา Green Products และฉลากสิ่งแวดล้อมต่อไป” นายเกรียงไกร กล่าว

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. กล่าวว่า “ภาพรวมของการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก และสถานการณ์ของการแข่งขันทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล็กตามที่ทุกท่านทราบหรือรับรู้จากข่าวสารต่างๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตที่มุ่งสู่ Green Steel และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  ทางกลุ่มเหล็กได้ตระหนักในความสำคัญและมุ่งมั่นในการส่งเสริม สนับสนุนสมาชิกของกลุ่มเหล็กในการเตรียมความพร้อมขององค์กรและกระบวนการผลิตเหล็ก เพื่อรองรับการมุ่งสู่ Green and Circular Economy โดยเริ่มต้นจากการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เหล็ก โดยโครงการฯ ได้รับความสนใจจากสมาชิกของกลุ่มฯ เป็นอย่างมาก การจัดทำฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมเหล็ก แบบ Gate to Gate และ Cradle to Gate ที่เป็นตัวแทนของข้อมูลภาคการผลิตเหล็กของไทย มีเป้าหมายการจัดทำฐานข้อมูลของผู้ประกอบการทั้งกลุ่มเหล็กทรงยาว (Long products) 2 ฐานข้อมูล และกลุ่มทรงแบน (Flat products) จำนวน 5 ฐานข้อมูล รวมทั้งสิ้น 7 ฐานข้อมูล”

รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า “เอ็มเทค มีพันธกิจในการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และสังคม เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ การดำเนินงานในการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมรองรับมาตรการ CBAM ภายใต้ความร่วมมือนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะดำเนินการโดยสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับวิเคราะห์ข้อมูล สร้างโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อันนำไปสู่แนวทางในการปรับปรุงการผลิตที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

ทั้งนี้ พิธีลงนามสัญญาร่วมวิจัยเป็นความร่วมมือในการจัดทำบัญชีรายการสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Inventory: LCI) ที่เป็นฐานข้อมูลแบบ Gate-to-Gate และ Cradle to gate ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก (พิจารณาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงงาน) ประเมินข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อหน่วยของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ และบริษัทที่เข้าร่วมต้องทำการร่วมเก็บข้อมูลการผลิตย้อนหลังจำนวน 12 เดือน เพื่อให้ได้ข้อมูลเฉลี่ยตามการผลิตจริง ซึ่งจะพิจารณาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงงาน

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH