Aluminium,อะลูมิเนียม, ภาษีคาร์บอน, อุตสาหกรรมอะลูมิเนียม, ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะลูมิเนียม, Carbon Neutrality, ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน, EU, ก๊าซเรือนกระจก, สิ่งแวดล้อม, CBAM EU

ส.อ.ท. - สวทช. เผยฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม เตรียมรับมาตรการ CBAM

อัปเดตล่าสุด 16 ก.ย. 2566
  • Share :

กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมคืบหน้าพร้อมรับมาตราการ CBAM โดยประสานความร่วมมือผ่าน ส.อ.ท. และ สวทช. จัดฐานข้อมูลค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อใช้เป็นค่า CBAM กลางของอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมไทยในการนำไปต่อยอดทางการค้าและพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดอียู

วันที่ 12 กันยายน 2566 - นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ร่วมกับ ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ชี้แจงผลการดำเนินงานโครงการการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ณ ห้องประชุม Passion (802) ชั้น 8 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

โดยประเทศไทยเป็นที่แรก ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ได้จัดข้อมูลค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวคิด CBAM เพื่อเตรียมความพร้อมทางการค้ากับสหภาพยุโรป ซึ่งกลุ่มอะลูมิเนียมเป็นกลุ่มแรกที่สามารถทำข้อมูลออกมาได้ทันช่วงเปลี่ยนผ่านของมาตรการ CBAM ผลจากการประเมินจะช่วยให้อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมีค่า CBAM กลางของประเทศเพื่อใช้ต่อยอดในการสื่อสาร เจรจาทางการค้า และพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของกลุ่มอะลูมิเนียมสืบไป

การชี้แจงผลการดำเนินงานครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม เพื่อรองรับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU ในสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอน โดยมีสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมร่วมโครงการในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจ จำนวนรวม 11 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท แคป โกลบอล อลูมิเนียม จำกัด, บริษัท ซังเคียว ทาเทยาม่า อัลลอยด์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ไทยเม็ททอล อลูมิเนียม จำกัด, บริษัท ทอสเท็ม ไทย จำกัด, บริษัท ไมย์เออร์ อลูมิเนียม (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท นิคเคสยามอลูมิเนียม จำกัด, บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท วโรปกรณ์, บริษัท โกลด์สตาร์ เมททอล จำกัด, บริษัท เมืองทองอุตสาหกรรมอาลูมีเนียม จำกัด และ บริษัท แอลเมทไทย จำกัด

สำหรับประเทศไทย ได้มีการใช้อะลูมิเนียมในอุตสาหกรรมก่อสร้างในงานเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ เช่น กระป๋องอะลูมิเนียม ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แบบดั้งเดิมและยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอื่นๆ จากการที่ประเทศไทยเป็นทั้งฐานการผลิตรถยนต์และฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จึงถือได้ว่าอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมีความสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานหลักจากภาครัฐที่คอยให้การสนับสนุนโดยตรงเหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศ มีเพียงกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เป็นจุดศูนย์รวมของผู้ประกอบการอะลูมิเนียม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้เห็นความสำเร็จของการดำเนินโครงการการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม เพื่อรองรับมาตรการ CBAM ซึ่งในเรื่องนี้ มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใต้สังกัด อยู่ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไฟฟ้า ซีเมนต์ ปุ๋ย(เคมี) เหล็ก และอะลูมิเนียม ทั้งนี้ กลุ่มอะลูมิเนียมเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรก ที่สามารถดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับมาตรการ CBAM ได้สำเร็จ และสามารถนำผลจากโครงการฯ ไปช่วยผลักดันอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

“เรามุ่งหวังว่า การดำเนินงานนี้จะนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อลดภาระทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในอนาคต และนำไปสู่เป้าหมายให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป”

นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ส.อ.ท. กล่าวว่า สมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมหล่อบิลเล็ต กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมหน้าตัด และกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมแผ่นม้วน จำนวน 11 โรงงาน แบ่งเป็นกลุ่มโรงงานอลูมิเนียมแผ่นโดยกระบวนการรีด (rolling) 4 โรงงาน กลุ่มโรงงานหล่อบิลเล็ตและอลูมิเนียมเส้นหน้าตัดโดยกระบวนการอัดขึ้นรูป (extruding) 7 โรงงาน เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้าง กระป๋องอลูมิเนียม ชิ้นส่วนรถยนต์ ลวดเกลียว เคเบิล ของใช้อื่นๆ ที่ทำด้วยอลูมิเนียม เป็นต้น ได้ดำเนินการกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เป็นระยะเวลาหนึ่งปี ในการจัดทำค่ากลางของผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมตามกรอบ CBAM ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่บิลเล็ต อลูมิเนียมเส้นหน้าตัดและอลูมิเนียมแผ่นม้วนภายในประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จของการดำเนินโครงการในช่วงเฟสหนึ่งนี้ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมที่เข้าร่วมโครงการฯ ทราบถึงปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามกรอบ CBAM สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมในระดับประเทศ ซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบกับทางยุโรป และจะทำให้เราทราบว่าต้องมีการปรับปรุงมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมที่เข้าร่วมโครงการฯ จะทราบถึงรายการสารขาเข้าและสารขาออกของแต่ละกระบวนการผลิตย่อยของบริษัทตนเอง หรือกระบวนการผลิตรวมของกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ซึ่งสามารถนำไปสู่การต่อยอด วิเคราะห์ หาจุดที่ต้องปรับปรุงในแต่ละกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับค่ากลางของประเทศได้อีกด้วย

นอกจากนี้อุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น เคเบิ้ล ลวดเกลียว ส่วนประกอบสิ่งก่อสร้าง กระป๋องอลูมิเนียม ชิ้นส่วนรถยนต์ และอื่นๆ ยังสามารถนำค่ากลางของผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมนี้ ไปประมาณการเพื่อทราบปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามกรอบ CBAM ของผลิตภัณฑ์ปลายทาง เพื่อเข้าถึงต้นทุนที่รวมกับค่า CBAM Certification ในกรณีที่ต้องจ่าย เพื่อประเมินว่าสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตภายในยุโรปหรือผู้นำเข้ารายอื่นๆ ได้หรือไม่ และควรมีการดำเนินการอย่างไรเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

หลังจากนี้ ทางกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมและทาง MTEC จะยังคงดำเนินงานในช่วงเฟสสองต่อ เพื่อเข้าถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) ต่อไป

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต หรือ Life Cycle Assessment (LCA) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล ISO 14040/14044 Standards เพื่อใช้ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเชิงปริมาณหรือตัวเลขบ่งชี้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณา โดยข้อมูลเชิงปริมาณที่สำคัญสำหรับการประเมิน LCA นี้ เรียกกันโดยทั่วไปว่า “บัญชีรายการสิ่งแวดล้อม หรือ Life Cycle Inventory (LCI)” ซึ่งในการประเมิน LCA ของผลิตภัณฑ์หรือบริการหนึ่งๆ ต้องอาศัยฐานข้อมูล LCI เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. พิจารณาแล้วเห็นควรในการร่วมมือดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ที่สามารถสะท้อนและเป็นตัวแทนของข้อมูลภาคการผลิตของกลุ่มอลูมิเนียมของประเทศไทย ผ่านโครงการของ “ศูนย์ข้อมูลวัฏจักรชีวิตแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.จิตติ มังคละศิริ หัวหน้าทีมวิจัยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า การจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียมเพื่อรองรับมาตรการ CBAM นี้ เราใช้เทคนิคการประเมิน LCA มาใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งจะได้ข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ หรือ Embedded emission และฐานข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (LCI database) ทั้งข้อมูลแบบ Gate to Gate และ Cradle to Gate โดยข้อมูลที่รวบรวมตามหลักการการประเมินวัฏจักรชีวิตนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ตลอดจนสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินงานด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้อีกด้วย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH