333-ยางรถยนต์-นำเข้า-สหรัฐ-จีน-ภาษี

5 บิ๊กยางล้อจีนย้ายฐานลงทุนไทย หนีไม่พ้น “สหรัฐฯ” ไล่บี้เปิดไต่สวนจ่อรีดภาษีเอดี

อัปเดตล่าสุด 22 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 2,352 Reads   

โควิดฟาดหางโรงงานยางล้อสหรัฐอ่วมปิดตัว เป็นเหตุให้สหภาพแรงงานเหล็กสหรัฐ ไล่บี้เปิดไต่สวนเอดียางรถยนต์ “ไทย” ร่วมกับอีก 3 ประเทศ เกาหลี เวียดนาม ไต้หวัน อ้างยอดนำเข้าพุ่ง 20% กว่า 85 ล้านเส้นในปี 2562 กระทบตลาด 4.4 พันล้านเหรียญ วงการยางชี้ “บิ๊กโรงงานยางล้อจีน ทั้งจงเซ่อ-เซ็นจูรี-แอลแอลดี-แม็กซิส-หวาอี้ ที่ย้ายมาตั้งฐานผลิตในไทยโดนเต็ม ๆ

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำชิคาโก้ ประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า สหภาพแรงงานเหล็กสหรัฐฯ (หรือ USW) ยื่นเรื่องต่อกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ฟ้องให้มีการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดและการอุดหนุนการผลิต (AD & CVD) สินค้ายางรถยนต์ ที่นำเข้าจาก 4 แห่ง ประกอบด้วย ไทย เกาหลีใต้ เวียดนาม และไต้หวัน ภายหลังพบว่าอัตราการนำเข้าจากประเทศดังกล่าว ขยายตัวสูง 20% ในช่วงระหว่างปี 2560-2562 หรือมีจำนวนยางรถยนต์ 85.3 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่า 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการทุ่มตลาด

ก่อนหน้านี้ สหภาพแรงงานเหล็กสหรัฐฯ ได้ขนะการฟ้องประเทศจีนในข้อหาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้ายางรถยนต์ในกลุ่มเดียวกันนี้เมื่อปี 2558 เป็นผลให้ผู้ผลิตยางรถยนต์จีนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปลงทุนการผลิตในแหล่งที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ และมีศักยภาพ เช่น ไทย เกาหลีใต้ และเวียดนาม นำมาสู่การทุ่มตลาดครั้งนี้ ประกอบกับ ผลการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์สหรัฐฯ โรงงานผลิตต้องหยุดการผลิตและปลดพนักงาน และอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไม่มีความต้องการยางรถยนต์ไปใช้ในการผลิต เนื่องจากต้องหยุดพักการผลิตรถยนต์เช่นกัน ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มหรือรักษาระดับจานวนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ในสหรัฐฯในอนาคต จึงต้องหาทางลดการนำเข้ายางจากต่างประเทศ และให้มีการเพิ่มการผลิตในประเทศเพื่อเพิ่มการจ้างงานในประเทศ

สำหรับประเภทยางรถยนต์ที่ฟ้อง ประกอบด้วย คือ ยางรถยนต์ส่วนบุคคล และยางรถบรรทุกขนาดเบา ทั้งชนิดที่ใช้ยางในและไม่ใช้ยางใน สินค้าที่เข้าข่ายฟ้องการทุ่มตลาดและการอุดหนุนตรงตามพิกัดศุลกากร HTSUS 10 หลัก คือ 4011.10.1010, 4011.10.1020, 4011.10.1030, 4011.10.1040, 4011.10.1050, 4011.10.1060, 4011.10.1070, 4011.10.5000, 4011.20.1005, และ 4011.20.5010 ครอบคลุมไปยังรหัสอื่นๆที่อาจจะถูกใช้ในการนาเข้า ได้แก่ 4011.90.1010, 4011.90.1050, 4011.90.2010, 4011.90.2050, 4011.90.8010, 4011.90.8050, 8708.70.4530, 8708.70.4546, 8708.70.4548, 8708.70.4580, 8708.70.6030, 8708.70.6045 และ 8708.70.6060 รวมทั้งยางที่มาพร้อมกับกะทะล้อ แต่ไม่ครอบคลุมยางรถแข่ง ยางใช้แล้ว ยางตัน ยางหล่อดอก ยางสำรอง และยางออฟโรด

เบื้องต้น คำฟ้องระบุว่าอัตราการทุ่มตลาดของไทยอยู่ในระดับสูงที่สุด ประมาณร้อยละ 106-217.5 ในขณะที่คู่แข่งอีก 3 รายมีอัตราการทุ่มตลาดในระดับต่ากว่า ได้แก่ ไต้หวันประมาณร้อยละ 105 – 147 เกาหลีประมาณร้อยละ 42.95 – 195.20 และเวียดนาม ร้อยละ 14.73 – 33.06

อนึ่ง สหภาพแรงงานเหล็กสหรัฐฯ ยื่นเรื่องฟ้องในนามของสมาชิกผู้ใช้แรงงานของโรงงานผลิตยางรถยนต์สหรัฐฯ 5 ราย คือ Good Year, Cooper Tire, Michelin, Sumitomo และ Yokohama รวมทั้งหมด 9 โรงงาน

สำหรับตลาดยางรถยนต์สหรัฐฯ ในปี 2562 มีมูลค่าตลาดประมาณ 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ บริโภคเฉพาะยางรถยนต์ส่วนบุคคลและยางรถบรรทุกขนาดเบาจานวน 330 ล้านเส้นในปี 2562 ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 1.54 หรือแยกเป็นบริโภคยางผลิตในประเทศ 149 ล้านเส้น และบริโภคยางนาเข้า 181 ล้านเส้น

ผู้ผลิตยางรถยนต์รายสำคัญของสหรัฐฯ ประกอบด้วยบริษัทอเมริกัน ได้แก่ กู้ดเยียร์ คูเปอร์ไทร์ บริดจ์สโตน คอนติเนนทัล และโรงงานผลิตจากต่างประเทศ เช่น มิชลิน โยโกฮาม่า โตโยไทร์ และ คัมโฮไทร์ เป็นต้น กู้ดเยียร์เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดและครองตลาดร้อยละ 23 ตามมาด้วยแบรนด์มิชลินร้อยละ 19 และคอนติเนนทัลร้อยละ 15

ทั้งนี้ในปี 2562 สหรัฐฯ นำเข้ายางรถยนต์ส่วนบุคคลและยางรถบรรทุกขนาดเบา มูลค่า 12,487.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.54 เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยมีไทยเป็นแหล่งนาเข้าสำคัญที่สุดมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 20.76 หรือมีมูลค่านำเข้า 2,592.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.80 ส่วนแหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ แคนาดา (สัดส่วนร้อยละ 12.10) เกาหลีใต้ (สัดส่วนร้อยละ 10.45) เม็กซิโก (สัดส่วนร้อยละ 8.35) และญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 8.13)

ประเภทยางรถยนต์ที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยในปี 2562 แยกเป็น ยางรถยนต์ส่วนบุคคลมูลค่า 1,422.98 ล้านหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.27 และยางรถบรรทุกขนาดเบามูลค่า 1,169.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.40

รายงานข่าวระบุว่า สินค้ายางรถยนต์เกือบร้อยละ 50 ที่นำเข้าไปยังสหรัฐฯ ผลิตโดยบริษัทลงทุนจากจีน เช่น LLIT, Zhongce, Maxxis, Sentury Tire ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 เป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าระหว่างบริษัทแม่ในสหรัฐฯ และบริษัทลูกในไทย เช่น Bridgestone, Goodyear, Michelin, Sumitomo, Yokohama คิดเป็นร้อยละ 30 และบริษัทสัญชาติไทยที่นำเข้าสินค้าไปยังสหรัฐฯ เช่น Dee Stone, Vee Rubber, Otani คิดเป็นร้อยละ 20 ดังนั้น ไทยจึงเป็นเป้าให้สหภาพแรงงานเหล็กสหรัฐฯ เล่นงานผู้ผลิตจีนในไทย ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรายอื่น ๆ ของไทยในการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ และมูลค่าการนาเข้ายางรถยนต์จากไทยจะลดลงในอนาคต

ทั้ง หากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ พิจารณาไต่สวนการทุ่มตลาดและการอุดหนุนการผลิตสินค้ายางรถยนต์ดังกล่าว และแหล่งผลิตที่ถูกกล่าวหาทั้ง 4 แหล่งต้องจ่ายภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและภาษีตอบโต้การอุดหนุน คาดว่า อินโดนิเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะกลายเป็นแหล่งผลิตทดแทนในอนาคต

รายงานข่าวจากกรมศุลกากร ระบุว่า ผู้ส่งออกยางรถยนต์ (พิกัด 4011) ไปยังสหรัฐฯ 10 อันดับแรก ประกอบด้วย บริษัท แอลแอลดีไอที (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ดีสโตน คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท จงเซ่อ รับเบอร์ (ไทยแลนด์), บริษัท เซนจูรี่ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สยามมิชลิน จำกัด, บริษัท หวาอี้ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท บริดจสโตน ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท วีไทร์ แอนด์ รับเบอร์ จำกัด และบริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

แหล่งข่าวจากวงการยางพารา เปิดเผยว่า การไต่สวนเอดีครั้งนี้เป็นผลจากโรงงานยางล้อจีนย้ายฐานหนีการเก็บเอดีจากจีนเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งจะกระทบผู้ผลิตรายใหญ่สัญชาติจีน เช่น จ่งเซ่อ เซ็นจูรี่ฯ แม็กซิส แอลแอลดี และหวาอี้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชั้นนำของโลก

 

อ่านเพิ่มเติม:
อุตสาหกรรมยาง ปรับตัวอย่างไรในยุคใหม่ของยานยนต์ ?