สหรัฐไต่สวนผู้ส่งออกโซลาร์เซลล์ไทย, โซลาร์เซลล์, Solar Cell, USA, Export, ส่งออกไทยไปสหรัฐอเมริกา

พาณิชย์ป้องผู้ส่งออกโซลาร์เซลล์ไทย ค้านผลไต่สวนสหรัฐฯ กรณีหลบเลี่ยงมาตรการ AC

อัปเดตล่าสุด 16 ธ.ค. 2565
  • Share :
  • 936 Reads   

กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้าปกป้องผู้ส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทย กรณีสหรัฐอเมริกาประกาศผลการไต่สวนชั้นต้นพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-Circumvention: AC) สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์จากไทย พร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ส่งออกไทยเพื่อแก้ต่างกรณีดังกล่าวอย่างเต็มที่

วันที่ 15 ธันวาคม 2565 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศแจ้งผลการไต่สวนชั้นต้น (Preliminary Determination) กรณีการไต่สวน AC สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่ส่งออกจาก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และไทย โดยระบุว่าผู้ส่งออกสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ไทย มีการนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้วส่งออกไปสหรัฐฯ เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) ที่สหรัฐฯ ใช้บังคับกับสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่ส่งออกจากจีน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการประกาศผลการไต่สวนชั้นต้นว่าไทยมีพฤติกรรมการหลบเลี่ยงอากรดังกล่าว ผู้ส่งออกไทยยังคงสามารถส่งออกสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ ไปยังสหรัฐฯ ได้ตามปกติ โดยไม่ต้องชำระอากรเพิ่มเติมใด ๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้ออกประกาศยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ส่งออกจาก 4 ประเทศดังกล่าวเป็นระยะเวลา 24 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2567

ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ติดตามความคืบหน้ากรณีการเปิดไต่สวน AC สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่ส่งออกจาก 4 ประเทศดังกล่าว และแจ้งผู้ส่งออกไทยให้ทราบความคืบหน้าต่างๆ ทันทีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อส่งเสริมและปกป้องการส่งออกสินค้าของไทยตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 กรมฯ ได้มีหนังสือถึง Ms. Lisa Wang, Assistant Secretary of Commerce for Enforcement and Compliance กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยื่นคัดค้านผลการไต่สวนดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 กรมฯ ได้ร่วมหารือกับผู้ส่งออกไทยเกี่ยวกับผลการไต่สวนดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ส่งออกไทยในการโต้แย้งต่อผลการไต่สวนฯ และกรมฯ ได้เน้นย้ำให้ผู้ส่งออกไทยให้ความร่วมมือในกระบวนการไต่สวนของสหรัฐฯ โดยจัดทำหนังสือโต้แย้งผลการไต่สวนดังกล่าวเพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ เพราะกระบวนการไต่สวน AC ของสหรัฐฯ จะเป็นการไต่สวนตามข้อเท็จจริงของผู้ส่งออกเพียงบางรายที่สหรัฐฯ ได้เลือกให้เป็นตัวแทนในการตอบแบบสอบถาม ซึ่งกรณีนี้สหรัฐฯ ได้เลือกผู้ส่งออกไทย จำนวน 2 ราย คิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยจากจำนวนผู้ผลิตทั้งหมดของไทย ดังนั้น กรมฯ จึงอยากให้บริษัทที่เป็นผู้แทนในการตอบแบบสอบถาม ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลในกระบวนการไต่สวนอย่างเต็มที่ และให้ความร่วมมือในการประสานให้ข่าวสารแก่กรมฯ ทราบ เพื่อช่วยในการติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะผลการไต่สวนจะส่งผลต่อทุกบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ในไทย

กระบวนการไต่สวนต่อไป จะเป็นการพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูลตามแบบสอบถามที่ผู้ส่งออกไทยได้ชี้แจงต่อสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ จะเดินทางมาตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง ณ สถานประกอบการของบริษัทที่ประเทศไทย ก่อนจะสรุปผลการไต่สวนและกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุดภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 

นายรณรงค์ฯ กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศ เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ ที่เติบโตตามความต้องการของตลาดภายในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศก็มีการเติบโตที่สูงเช่นกัน อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญกับกฎระเบียบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่มีเงื่อนไขรวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เช่น กฎถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งกรมฯ พร้อมที่จะสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้สามารถผลิตสินค้าและส่งออกสู่ตลาดสหรัฐฯ ได้อย่างถูกต้องตามกฎระเบียบที่สหรัฐฯ กำหนด

นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยมีการส่งออกสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 (เดือนมกราคม - ตุลาคม) ไทยส่งออกสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 940.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564 ที่มีมูลค่าส่งออก 911.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย ไต้หวัน ตุรกี และจีน ทั้งนี้ ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกสามารถติดต่อกองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด เพื่อขอรับคำปรึกษาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2547 5086 หรืออีเมล [email protected] หรือสามารถติดตามความคืบหน้ากระบวนการไต่สวนฯ ด้วยตนเองที่เว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ https://access.trade.gov/ ได้อีกช่องทางหนึ่ง

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH