ดัมพ์ราคาเหล็ก, เหล็กจีน, สมาคมเหล็กลวดไทยร้องรัฐ กระตุ้นใช้เหล็กลวดในประเทศ - แก้ปัญหาดั้มพ์ราคา

สมาคมเหล็กลวดไทยร้องรัฐบาล กระตุ้นใช้เหล็กลวดในประเทศ - แก้ปัญหาดั้มพ์ราคา

อัปเดตล่าสุด 10 ต.ค. 2566
  • Share :
  • 833 Reads   

นายกสมาคมเหล็กลวดไทย เรียกร้องรัฐบาล เร่งหามาตรการเพิ่มการใช้กำลังการผลิตเหล็กลวดในประเทศ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมอยู่รอด ลั่นมาตรการ Made in Thailand  โครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ ยังไม่เพียงพอ  ชี้กำลังในผลิตในประเทศมีพร้อม แต่ไม่ได้ใช้ หลังมีการนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศ ดั้มราคาในตลาด 

วันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์  นายกสมาคมเหล็กลวดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กลวดไทย กำลังเผชิญความเดือดร้อน เพราะมีการนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศ ทั้งจากจีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และรัสเซีย เข้ามาตีตลาด เสนอขายในราคาที่ต่ำ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยแก้ปัญหา เพื่อให้ผู้ผลิตเหล็กลวดไทย และภาพรวมอุตสาหกรรมอยู่รอด 

โดยข้อมูล ณ มกราคม-พฤษภาคม 2566 มีการนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศ ในปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก มีการนำเข้าจากจีนมากถึง 218,502 ตัน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมีการนำเข้าเพียง 95,924 ตัน เพิ่มมากขึ้นถึง 128% นำเข้าจากอินโดนีเซีย 69,944 ตัน ขณะที่ปีก่อนนำเข้าเพียง 25,211 ตัน เพิ่มขึ้น 177% และจากมาเลเซีย 69,440 ตัน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนนำเข้า 44,175 ตัน เพิ่มขึ้น 57%

"แปลกหรือไม่ ที่อุตสาหกรรมเหล็กลวดของไทย มีกำลังการผลิต 2.6 ล้านตันต่อปี มีความสามารถในการผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น และอินเดีย แต่กลับมีการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่า 30% " นายธีรยุทธ กล่าว

แม้ที่ผ่านมารัฐบาล จะออกมาตรการ Made in Thailand ให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของภาครัฐ ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลควรหาทางเพิ่มการใช้กำลังการผลิต เช่น กระตุ้นการส่งออก โดยพิจารณายกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมในการส่งออก ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน  ให้เหมาะสมกับการแข่งขันทางอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมประเทศอื่น รวมถึงขยายขอบข่ายของนโยบาย Made in Thailand ให้รวมถึงโครงการลงทุนร่วมทุนรัฐและเอกชน และให้ลงไปถึงการกำหนดให้ใช้วัตถุดิบต้นน้ำที่ผลิตได้ในประเทศด้วย 

นายธีรยุทธ ยังได้ยกตัวอย่างการช่วยเหลือจากภาครัฐในหลาย ๆ ประเทศว่า หลายประเทศหากเผชิญกับสถานการณ์แบบที่เกิดขึ้นแบบนี้ ภาครัฐจะเข้าช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ใช้มาตรการส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ ใช้มาตรการด้านภาษีกับสินค้านำเข้า ประเทศแคนาดา มีการประกาศเก็บภาษีเพิ่มร้อยละ 25 ในสินค้าเหล็กบางประเภทที่มีการนำเข้าเพิ่มสูงผิดปกติ เป็นต้น

“กลุ่มผู้ผลิตเห็นด้วยกับนโยบายการค้าเสรี ที่กระทรวงพาณิชย์สนับสนุน แต่ขอให้เป็นการค้าเสรีที่เป็นธรรม ไม่มีการทุ่มตลาด "

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ โดยไม่ผ่านการขอใบอนุญาตนำเข้า ทั้งที่สินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำเป็นสินค้าภายใต้มาตรฐานบังคับ ภายใต้การกำกับดูแลของ สมอ. อย่างเข้มงวด และยังพบว่ามีการหลบเลี่ยงการเสียอากรการทุ่มตลาด โดยปรับลดธาตุคาร์บอนเจืออัลลอยด์เพิ่มแทน อาจกระทบต่อคุณสมบัติของเหล็กลวดคาร์บอนสูง ซึ่งเป็นการตั้งใจหลบเลี่ยงกฎหมายรูปแบบหนึ่ง 

“ผมอยากให้มีการผลักดันการใช้สินค้า มอก. บังคับ อยากเห็นคนในประเทศอุ่นใจในเลือกใช้สินค้า มอก. ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างสินค้านำเข้า และสินค้าที่ผลิตในประเทศคือ ผู้ผลิตในประเทศ อยู่ตรงนี้ หากพบปัญหาคุณภาพสินค้า ก็พร้อมที่จะรับคืนหรือแก้ไขปัญหาร่วมกัน ต่างจากการส่งคืนไปประเทศอื่นซึ่งทำได้ยาก เรียกร้องความรับผิดชอบก็ยาก และสินค้าเหล็กลวดเป็นสินค้าทีเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ หากเกิดความเสียหาย จะส่งกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง” นายธีรยุทธ กล่าว

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH