ผู้ผลิตไอโฟนดิ้นหนีจีน จุดจบสถานะโรงงานโลก, Hon Hai Foxconn ผู้ผลิตไอโฟน ย้ายฐานการผลิตออกนอกจีน

ผู้ผลิตไอโฟนดิ้นหนีจีน จุดจบสถานะ ‘โรงงานโลก’ ?

อัปเดตล่าสุด 19 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 723 Reads   

จีนครองสถานะ “โรงงานของโลก” มาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่การเปิดประเทศในช่วงทศวรรษ 1980 ด้วยความได้เปรียบจาก “แรงงานราคาถูก” ที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ แต่สงครามการค้าในปัจจุบันกำลังทำให้จีนต้องเผชิญหน้ากับอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มสูงขึ้น และกำลังสั่นคลอนสถานะดังกล่าวของจีนอย่างรุนแรง ส่งผลให้ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต้องเร่งมองหาลู่ทางย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

บลูมเบิร์กรายงานว่า “หองไห่ พรีซิชั่น อินดัสทรี” บริษัทแม่ของ “ฟ็อกซ์คอนน์” บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไต้หวันผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับ “แอปเปิล”, เดลล์, นินเทนโด สวิตช์ส และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อีกหลายสิบราย เปิดเผยว่า บริษัทกำลังวางแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตนอกประเทศจีน เพื่อรองรับการแยกตัวของซัพพลายเชนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

โดยขณะนี้ หองไห่มีสัดส่วนการผลิตนอกประเทศจีนอยู่ที่ 30% เพิ่มขึ้นจาก 25% ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยบริษัทได้ทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ยัง หลิว” ประธานบริษัทหองไห่ เปิดเผยว่า “ขณะนี้เรามีระบบการผลิตในแต่ละภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอเมริกา แม้ปัจจุบันจีนจะยังคงมีบทบาทสำคัญในอาณาจักรการผลิตของฟ็อกซ์คอนน์ แต่ช่วงเวลาในการเป็นโรงงานโลกของจีนได้จบสิ้นลงแล้ว”

ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐตั้งแต่ปี 2019 ได้สร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ที่ต่างเกรงว่าการใช้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้กันไปมาจะทำให้บริษัทผู้ผลิตได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ผู้ผลิตหลายรายเลือกย้ายโรงงานออกจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

โดยก่อนหน้านี้ “ยัง หลิว” ได้เปิดเผยว่า หองไห่สามารถเริ่มกระบวนการผลิต “ไอโฟน” ของแอปเปิลนอกประเทศจีนได้หากสถานการณ์มีความจำเป็น และแม้ว่าในขณะนี้จีนและสหรัฐฯ กำลังอยู่ในกระบวนการเจรจา แต่คาดว่าซัพพลายเชนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง กำลังจะแยกขาดออกจากสหรัฐฯ ในระยะยาว

ทั้งนี้ บริษัทหองไห่มีรายรับสุทธิ 22,900 ล้านดอลลาร์ไต้หวันในไตรมาส 2/2020 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ซึ่งได้อานิสงส์จากมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในที่พักอาศัยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลที่มีสัดส่วนราว 50% ของยอดขายทั้งหมดของหองไห่

อย่างไรก็ตาม หองไห่คาดว่ารายรับในไตรมาส 3/2020 จะลดลง หลังจากแอปเปิลประกาศชะลอการเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่ในปีนี้ออกไป นอกจากนี้หากประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งสหรัฐฯ มีคำสั่งแบนแอปพลิเคชัน “วีแชท” ของบริษัท เทนเซนต์ โฮลดิงส์ ซึ่งจะส่งผลให้แอปเปิลต้องปิดกั้นบริการแอปดังกล่าวบนอุปกรณ์ของแอปเปิลทั่วโลก ก็อาจส่งผลให้ยอดขายของไอโฟนในปีนี้ลดลงถึง 25%-30% ตามการวิเคราะห์ของ “เกา หมิง-ชิ” จากบริษัท ทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล ซีเคียวริตีส์

ขณะที่ลูกค้าหลักรายอื่นของหองไห่ก็กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก เช่น “หัวเว่ย เทคโนโลยีส์” ที่แม้ว่าโทรศัพท์รุ่นใหม่จะประสบความสำเร็จในการขายในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ

รวมถึง “เสี่ยวหมี่” ก็ประสบปัญหาในการตีตลาดอินเดียหลังจากที่เกิดการปะทะกันของทหารบริเวณพรมแดนจีน-อินเดีย เมื่อไม่นานมานี้ความขัดแย้งเหล่านี้กำลังสั่นสะเทือนสถานะ “โรงงานโลก” ของจีนอย่างรุนแรง และกำลังแยกขาดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระหว่าง 2 มหาอำนาจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

อ่านต่อ: