รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วง กทม.-นครราชสีมา คืบหน้า รัฐฯ ลงนามสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 50.6 ลบ. แล้ว

'เซ็นแล้ว' รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 1 เสร็จปี 68

อัปเดตล่าสุด 29 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 779 Reads   

รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วง กทม.-นครราชสีมา คืบหน้า โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ได้มีพิธีลงนามสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี

สัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากรของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล โดย Mr. Gao Feng (เกา เฟิง) ซึ่งเป็นกิจการค้าร่วมกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชั่น โดย Mr. Ma Shengshuang (หม่า เซิ่งซวง) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้บริหาร บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและรัฐวิสาหกิจของจีน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี และพยายามผลักดันให้เกิดโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนารถไฟความเร็วสูง มิได้เป็นเพียงแค่ทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสำหรับประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ พัฒนาภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองหลักตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนควบคู่กันไป และในขณะเดียวกัน เส้นทางนี้ยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง สายไหมยุคใหม่ ที่เรียกว่า Belt and Road Initiative หรือ BRI ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปถึงยุโรปได้ด้วยทางรถไฟ ผมขอชื่นชมกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ได้เร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงนามในวันนี้เป็นการลงนามในสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงนามจ้าง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นกิจการค้าร่วมกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชั่น รัฐวิสาหกิจของจีนในลักษณะความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ (G to G) ซึ่งมีขอบเขตงานระยะทาง 253 กิโลเมตร งานวางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง (สามารถทำความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง) งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และงานถ่ายทอดเทคโนโลยี สัญญา 2.3 มีวงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพมหานคร – หนองคาย แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา มีสถานีรถไฟความเร็วสูง 6 สถานี คือ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา รวมระยะทาง 253 กิโลเมตร โดยแบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา โดยกรมทางหลวง (สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 สัญญา (สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้-กุดจิก โดยมีความคืบหน้าร้อยละ 42) อยู่ระหว่างเตรียมลงนามในสัญญาก่อสร้างจำนวน 9 สัญญา (สัญญา 3-2 งานอุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้วและกุดจิก-โคกกรวด สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย) อยู่ในขั้นตอนการประกาศผลการประกวดราคา 2 สัญญา (สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย) และอยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาอีก 1 สัญญา (สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง) โดยฝ่ายไทยเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมดและดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) โดยเริ่มงานตั้งแต่ กันยายน 2560 และออกแบบแล้วเสร็จ (สัญญา 2.1) ฝ่ายจีนเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา (Construction Supervision Consultant ) (สัญญา 2.2) และดำเนินการงานวางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง พร้อมทั้งงานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุงที่ลงนามสัญญา 2.3 ในวันนี้

ทั้งนี้ โครงการช่วงที่ 1 ได้เสนอขอความเห็นชอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แบ่งเป็น ช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 และช่วงบ้านภาชี-นครราชสีมา ผ่านความเห็นชอบจาก กก.วล. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จและคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2568 จะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ นอกจากนี้ยังทำให้บุคลากรของประเทศไทยได้รับความรู้และเทคโนโลยีระบบรางจากจีนต่อยอดองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต โดยการรถไฟฯ อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบรายละเอียดงานโยธา ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 354.5 กิโลเมตร เชื่อมไทย-ลาว-จีน และหลังจากที่ก่อสร้างทั้ง 2 ระยะแล้วเสร็จ ก็จะเป็นการเปิดเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงไทย จีน และเอเชียให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 

อ่านต่อ: