ปักหมุด “อู่ตะเภา-บ้านฉาง" นำร่องเทคโนโลยี 5G เพิ่มแต้มต่อการลงทุนให้กับ EEC
การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 5G จะเป็นจุดขายและแต้มต่อที่สำคัญในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้ก้าวสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจอัจฉริยะและมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยล่าสุด สกพอ. และ TOT ได้ร่วมมือกันเดินหน้าให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมรองรับระบบ 5G และเตรียมประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5G ในพื้นที่ “สนามบินอู่ตะเภา มาบตาพุด และอำเภอบ้านฉาง” คาดใช้เวลา 3 เดือน จัดทำแผนให้ชัดเจน
จากการลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยทีโอทีจะลงทุนวางท่อ เสา สายส่งสัญญาณ ระบบไฟเบอร์ออพติกสำหรับโครงข่าย 5G หลังจากนั้นจะประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 5G และในระยะถัดไปจะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อพิจารณาสิทธิประโยชน์ที่จะได้เพิ่มเติม เช่น สิทธิประโยชน์พื้นที่ สิทธิการเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย และใบประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ ซึ่งแผนดังกล่าวจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ลกพอ.) ได้เปิดเผยถึงการพัฒนา 5G ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC และวันนี้จะเป็นการนำ 5G ไปใช้ประโยชน์จริงและเป็นรูปธรรม ซึ่งความร่วมมือกับทีโอทีจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยจุดแรกคือ 1.สนามบินอู่ตะเภาที่ในอนาคตจะเป็น 5G เต็มรูปแบบ, 2.นิคมอุตสาหกรรมาบตาพุดซึ่งมีธุรกิจอยู่จำนวนมาก ทีโอทีจะเข้าไปช่วยพัฒนา Productivity ให้กับนิคมฯ และมีหลายบริษัทที่สนใจเข้ามาร่วมการพัฒนาในระยะแรก, และ 3.อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างสนามบินอู่ตะเภาและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีพื้นที่กว่า 10 ตารางกิโลเมตรซึ่งจะพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างเป็นรูปธรรม และจะขยายไปพื้นที่อื่นในอนาคต
ทำไมต้อง อู่ตะเภา-บ้านฉาง
'สนามบินอู่ตะเภา' ถือเป็นโครงการต้นแบบในการร่วมพัฒนาสนามบินที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการที่จะขยายขีดความสามารถในการให้บริการของท่าอากาศยาน ให้มีความพร้อมรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการขนส่ง ตามแผนการดำเนินงานของ EEC ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 รวมถึงการเชื่อมโยงผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ตลอดจนการมุ่งสู่การเป็น Aviation Hub หลักของภูมิภาคได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เทคโนโลยี 5G
สำหรับ 'บ้านฉาง' ถือเป็นทำเลที่ตั้งอันโดดเด่น มีความพร้อมทั้งโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การขนส่งและการเดินทางที่สะดวกสบายและครบครัน เพราะมีทางหลวงหมายเลข 7 หรือ มอเตอร์เวย์ มุ่งตรงสู่พื้นที่ อีกทั้งยังใกล้จุดศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ ทั้งทางอากาศ อย่างสนามบินอู่ตะเภา และทางน้ำซึ่งก็คือท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด และยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) จึงเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างเมืองที่อยู่อัจฉริยะ
โดยโครงสร้างพื้นฐาน 8 ด้านของเมืองอัจฉริยะ "บ้านฉาง สมาร์ทซิตี้" ที่จะได้เห็นคือ
1. พลังงานอัจฉริยะผลิตพลังงานหมุนจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม
2. การสัญจรอัจฉริยะ กำหนดตำแหน่งเมือง ที่สามารถเชื่อมโยงกับเมืองรอบข้างได้อย่างสะดวก
3. ชุมชนอัจฉริยะ มีกิจกรรมหลากหลาย สำหรับคนทุกเพศทุกวัย พร้อมวางแผผนรองรับการเกิดภัยพิบัติและการอพยพ
4. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ มีพื้นที่ผลิตอาหารและระบบกำจัดน้ำเสียและขยะภายนอก ไม่เป็นภาระเพิ่มแก่เทศบาลฯ ที่ต้องมาบริหารจัดการอีก
5. เศรษฐกิจอัจฉริยะ ตั้งเป้าเป็นเมืองทันสมัยรองรับการลงทุน และการทำธุรกิจ ในพื้นที่อีอีซี
6. อาคารอัจฉริยะ ภายในบ้านฉาง สมาร์ทซิตี้ จะมีเมืองสำนักงานให้เช่า ที่ได้รับการออกแบบเป็นอาคารสีเขียวระดับแพลตตินัม ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุด
7. บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ จะตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเมือง ผ็มีประสบการณ์การบริหารเมืองตามแนวทางสมาร์ทซิตี้
8. นวัตกรรมอัจฉริยะ สามารถผลิตพลลังงานในเมืองได้ 100% จัดเก็บพลังงานได้ 50% และใช้การวางแผนจัดรูปที่ดินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการใช้สอยพื้นที่ในเมืองอัจฉริยะให้เป็นประโยชน์ที่สุด
นอกจากนี้ นายชิต เหล่าวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้เปิดเผยเพิ่มเติมถึงการให้ความสนใจในการลงทุนเทคโนโลยี 5G ใน EEC ที่ไม่ใช่แค่ทางจีนเท่านั้นที่สนใจ แต่ยังมี CISCO ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่สนใจเข้ามาวางระบบเน็ตเวิร์ค ระบบซอฟต์แวร์ บริการจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ (Cloud Service) รวมทั้ง VMware และบริษัทจากไต้หวันก็สนใจเข้ามา ดังนั้นเมื่อไทยทำเรื่อง 5G เสร็จแล้วจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนเข้ามาเพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมรองรับ
ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการใช้โครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคมและดิจิทัล เพื่อรองรับการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนผู้ประกอบการทั่วโลกให้สนใจเข้าร่วมลงทุนในพื้นที่ EEC โดย สกพอ. และทีโอที จะร่วมกันเตรียมความพร้อมให้บริการระบบ 5G เต็มรูปแบบแก่ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการภาคเอกชนรายอื่น ๆ ที่จะเข้ามาใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน (Infrastructure Sharing) เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนระหว่างภาครัฐกับเอกชนใช้ทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เป็นการผูกขาดทางธุรกิจ
อ่านต่อ:
- รายงานความก้าวหน้าโครงการ EEC ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ (กพอ.) ครั้งที่ 4/2563
- 5G การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ จนถึงอุตสาหกรรมการผลิต คุณพร้อมหรือยัง?