“หลิงหลง” ปักหมุดลงทุนไทย 2563 Linglong Tyre Thailand

“หลิงหลง” ปักหมุดลงทุนไทย นิคมรับอานิสงส์คลายล็อกดาวน์เฟส 5

อัปเดตล่าสุด 14 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 912 Reads   

กนอ. ส่งสัญญาณครึ่งปีหลัง ไทยยังเนื้อหอม ยักษ์นักลงทุนยางจีน “หลิงหลง” ขอขยายกำลังการผลิตทันที พร้อมชงบอร์ดลดค่าเช่าให้รายใหญ่ปลายเดือน ก.ค.นี้ นิคมอุตสาหกรรมรับอานิสงส์ไฟเขียวโปรเจ็กต์เตรียมเซ็นสัญญานักลงทุนคึกคัก หลังรัฐคลายล็อก “business bubble” นักธุรกิจบินเข้าไทยได้ ด้าน WHA มั่นใจยอดขายที่ดินตามแผน 1,400 ไร่

แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยถึงแนวโน้มครึ่งปีหลังว่า สถานการณ์การลงทุนจะมีความคึกคักอย่างแน่นอน เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ที่ยังมองไทยเป็นฐานการผลิต สะท้อนได้จากล่าสุด บริษัท แอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด หรือหลิงหลง ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์จากประเทศจีน ได้แจ้งความประสงค์เข้ามาว่า พร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มแล้วภายในปี 2563 นี้ เพราะมองว่าประเทศไทยได้คลี่คลายสถานการณ์จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนพร้อม ขณะที่หลิงหลงเองปริมาณยอดขายที่ได้หายไปก่อนหน้านี้ ได้กลับมาเท่าเดิมแล้วอย่างรวดเร็ว และมีแผนที่จะขยายการผลิตเพื่อส่งออกไปยังยุโรป รองรับตลาดรถยนต์ที่กำลังส่งสัญญาณการฟื้นตัวในไม่ช้า บวกกับความต้องการในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้แผนขยายกำลังการผลิตต้องเริ่มในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มนักลงทุนจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ เริ่มส่งสัญญาณความพร้อมที่จะขยับตัวขยายการลงทุนแล้ว แต่ยังไม่ใช่จากการย้ายฐานการผลิตจากกลุ่มประเทศที่ไทยคาดการณ์ไว้ เพราะไทยยังมีข้อเสียเปรียบในเรื่องของค่าแรงที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน และสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ไทยยังเสียเปรียบอยู่ ทำให้ประเทศที่จะย้ายฐานมาไทยอาจพิจารณาส่วนนี้ตัดสินใจเลือกประเทศอื่นลงทุนแทน

แต่ทั้งนี้ภาพรวมยังยืนยันว่า ครึ่งปีหลังสถานการณ์การลงทุน และยอดขายที่ดินของแต่ละแห่งจะเป็นทิศทางที่สดใสในส่วนของบริษัทหลิงหลงวางแผนการลงทุน 17,000 ล้านบาท ผลิตยางเรเดียลสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 12 ล้านเส้น/ปี เป็นส่วนของยางรถบรรทุก 1.2 ล้านเส้น/ปี โดยช่วงแรกใช้เงินลงทุน 3,500 ล้านบาท ซึ่งได้รับการส่งเสริมลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อปี 2555 และเริ่มผลิตในปี 2557 สำหรับยางเรเดียลสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 2 ล้านเส้น/ปี

เสนอลดค่าเช่าที่ดิน-โรงงาน

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) ที่จะมีขึ้นปลายเดือน ก.ค. 2563 โดยมีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จะมีการพิจารณาในวาระสำคัญ 2-3 เรื่อง

หนึ่งในนั้นคือ การเสนอให้ที่ประชุมรับพิจารณาการปรับลดอัตราค่าเช่าที่ดินและอาคารโรงงาน ค่าบริการอนุญาต รวมถึงค่าบำรุงรักษาในอัตราที่ 10% และขยายระยะเวลาการชำระค่าเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งหมด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ กนอ. ได้ประกาศปรับลดค่าเช่าไปแล้ว แต่เป็นในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

“รายใหญ่ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และมาบตาพุด จ.ระยอง อย่างพวกโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ เขาไปหารือกับทาง กนอ. และขอให้รัฐช่วยลดภาระที่เจออยู่ตอนนี้ถือเป็นการเยียวยาที่ไม่ใช่แค่ช่วยรายเล็ก เพราะรายใหญ่เขาก็โดนหนักเช่นกัน ดังนั้นในการประชุมบอร์ดที่จะถึงจึงน่าจะมีการพิจารณาปรับลดค่าเช่าที่ให้สำหรับรายใหญ่ รายเก่า ส่วนรายใหม่ที่เพิ่งจ่ายชำระไป คาดว่าจะเป็นการคืนเงินให้”

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ลูกค้าจะไม่สามารถเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมได้ด้วยตนเอง และบางรายขอเลื่อนการเซ็นสัญญาไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

นางสาวจรีพรระบุว่า ล่าสุดรัฐได้ออกประกาศให้มีการผ่อนคลายให้นักลงทุน นักธุรกิจสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้แล้ว ตามที่ภาคเอกชนร้องขอ ส่งผลให้ภาพรวมนิคมอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลังกลับมาคึกคักเช่นเดิมตามที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยมั่นใจว่ายอดขายพื้นที่นิคม WHA ปี 2563 ที่ตั้งไว้ 1,400 ไร่ เป็นส่วนในประเทศไทย 1,200 ไร่ และที่เวียดนาม 200 ไร่ ยังคงเป็นไปตามแผน เนื่องจากนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น และแม้จากที่เคยเลื่อนการเซ็นสัญญาก็จะกลับมาเซ็นกันได้ในเร็ว ๆ นี้ เพราะยังไม่มีรายใดยกเลิกสัญญา