กรมโรงงานฯ จับมือภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเทคโนโลยีสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศโอโซน

กรมโรงงานฯ ร่วมภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการลดและเลิกใช้ HCFCs ในภาคการผลิตโฟมและเครื่องปรับอากาศ

อัปเดตล่าสุด 14 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 531 Reads   

กรอ. จับมือภาคีเครือข่าย 6 หน่วยงาน ขับเคลื่อนเทคโนโลยีสารทำความเย็นและการผลิตโฟมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศโอโซน โดยการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) ซึงอยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการ ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 - 2566 เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและเทคนิควิชาการแก่ผู้ประกอบการ มุ่งควบคุมปริมาณการใช้ให้เท่ากับศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2583          

โดยสารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ สาร HCFCs เป็นสารที่ถูกควบคุมภายใต้พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และมีพันธกรณีในการลดและเลิกใช้สารดังกล่าว โดยกำหนดเป้าหมายให้เริ่มควบคุมปริมาณการใช้ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งมีค่าฐานที่ 927 โอดีพีตัน และให้ลดปริมาณการใช้ลงตามลำดับ ร้อยละ 10 ในปี พ.ศ. 2558, ร้อยละ 35 ในปีปัจจุบัน พ.ศ. 2563, ร้อยละ 67.5 ในปี พ.ศ. 2568 และควบคุมปริมาณการใช้สาร HCFCs ให้เท่ากับศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2583

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความร่วมกับธนาคารโลก ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินงาน (Implementing Agency: IA) จัดทำโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFCs ของประเทศไทย ระยะที่ 1  ซึ่งได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินแบบให้เปล่าจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล จำนวน 23,052,037 เหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินโครงการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 - 2561 โดยเน้นให้ความช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคการผลิตโฟมและเครื่องปรับอากาศ ในการปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนใหม่ที่ไม่ทำลาย ชั้นบรรยากาศโอโซนและมีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนต่ำ ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จ และสามารถลดปริมาณการใช้สาร HCFCs ได้ร้อยละ 61.9 สูงกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดที่ร้อยละ 15 สำหรับปี พ.ศ. 2561 โดยมีการนำเข้าเพียง 353.16 โอดีพีตัน เทียบกับปริมาณโควตาการนำเข้าซึ่งกำหนดไว้ที่ 788 โอดีพีตัน 

สำหรับการดำเนินงานต่อไป กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับธนาคารโลก และภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมศุลกากร ธนาคารออมสิน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และภาคเอกชน อยู่ระหว่างดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFCs ระยะที่ 2 ซึ่งประเทศไทยได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล จำนวน 5,083,929 เหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินการลดและเลิกใช้สาร HCFCs ในช่วงปี พ.ศ. 2563 - 2566 ซึ่งเป็นมาตรการมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและเทคนิควิชาการแก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมผลิตโฟมแบบฉีดพ่น (Spray Foam) รวมถึงภาคอุตสาหกรรมผลิตตู้เย็น และตู้แช่เชิงพาณิชย์ ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้สารทดแทน  ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศโอโซน นอกจากนี้ โครงการฯ จะมีการเสริมสร้างศักยภาพ  ด้านการตรวจวิเคราะห์ชนิดสารทำความเย็นให้แก่กรมศุลกากร รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HFC-32 เป็นสารทำความเย็น ในสังกัด

นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ขอเชิญชวนผู้ประกอบการผลิตโฟมแบบฉีดพ่นที่ยังใช้สาร HCFC-141b ในการผลิต ยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินแบบให้เปล่า ได้ที่กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย โทร. 0 2202 4228, 4104 เพื่อการปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนใหม่ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศโอโซนต่อไป

 

อ่านต่อ: