324-เอฟทีเอ-ส่งออก-เครื่องปรับอากาศ-ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ-อันดับ-2-โลก

เอฟทีเอ หนุนส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนขึ้นแท่นอันดับ 2 โลก

อัปเดตล่าสุด 11 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 624 Reads   

พาณิชย์ เผยเอฟทีเอดันไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนเบอร์ 2 โลก สวนทางเศรษฐกิจโลกที่หดตัว จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หนุนผู้ประกอบการไทยใช้เอฟทีเอขยายส่งออกต่อเนื่อง พร้อมแนะเตรียมพร้อมหาแหล่งวัตถุดิบสำรอง ไม่ให้การผลิตขาดช่วง

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่า สินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากสามารถขยายตัวได้ในตลาดสำคัญ แม้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องเผชิญภาวะหดตัวจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าส่งออก 1,104 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปตลาดอาเซียนมากที่สุด มูลค่า 277 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ สหรัฐฯ มีมูลค่าส่งออก 130 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของตลาด พบว่าเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึงร้อยละ 17.5 โดยสหรัฐฯ ขยายตัวสูงสุด ร้อยละ 68 รองลงมา คือ ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 49 และอาเซียน ขยายตัวร้อยละ 26

ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนขยายตัว โดยปัจจุบัน มี 15 ประเทศคู่เอฟทีเอที่ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนจากไทยแล้ว ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง เหลือเพียง 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ ทำให้ในปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าส่งออก สูงถึง 5,515 ล้านเหรียญสหรัฐ รองจากจีน ทั้งนี้ ตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอมีผลใช้บังคับจนถึงปี 2562 ไทยส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอกว่า 3,044 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 55 ของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนของไทยทั้งหมด นอกจากนี้ ตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก เป็นประเทศคู่เอฟทีเอทั้งสิ้น ได้แก่ อาเซียน มูลค่าการส่งออก 1,364 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย มูลค่าการส่งออก 515 ล้านเหรียญสหรัฐ และ ญี่ปุ่น มูลค่าการส่งออก 458 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ โดยเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนมีการขอใช้สิทธิส่งออกไปยังประเทศคู่เอฟทีเอสูงมากเป็นอันดับ 8 จากรายการสินค้าที่ใช้สิทธิทั้งหมด สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือติดผนัง สัดส่วนร้อยละ 73 ของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนทั้งหมด

ปัจจุบันตลาดเครื่องปรับอากาศมีการแข่งขันสูง โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศไทยได้รับการยอมรับด้านคุณภาพและมาตรฐาน จึงเชื่อมั่นว่า ศักยภาพที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศไทย และแต้มต่อจากเอฟทีเอ จะเพิ่มโอกาสให้การส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนของไทยเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะสามารถผลิตชิ้นส่วนได้เองในประเทศ แต่ยังมีส่วนประกอบบางตัว อาทิ คอมเพรสเซอร์ ที่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าหลัก (สัดส่วน ร้อยละ 60 ของการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศทั้งหมด) ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และเตรียมมาตรการรองรับด้านวัตถุดิบให้เพียงพอ เช่น หาแหล่งวัตถุดิบสำรอง ซึ่งปัจจุบันการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศจากประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยทั้งหมด 17 ประเทศไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแล้ว (ยกเว้นการนำเข้าจากฮ่องกงคงภาษีอัตราที่ ร้อยละ 1-8)