สสว. ร่วมกับ อว. ขับเคลื่อนมาตรการ THAI SME-GP

สสว.จับมือ อว. ชวน ผปก.- คู่ค้ากว่า 30,000 ราย ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP เข้าตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

อัปเดตล่าสุด 21 เม.ย. 2564
  • Share :

สสว. จับมือ กระทรวง อว. ขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นำร่องเชิญชวนผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวง อว. และที่เป็นคู่ค้ากว่า 30,000 ราย ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน THAI SME-GP มีเอสเอ็มอีขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 10,000 ราย พบผู้ประกอบการ กทม. ครองแชมป์ขึ้นทะเบียนสูงสุด เชื่อมั่นสร้างโอกาสใหม่ในตลาดภาครัฐ 

Advertisement


รศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่มาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอี เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก มีการพัฒนาระบบสนับสนุนให้เอสเอ็มอี เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คือ www.thaismegp.com หรือ THAI SME-GP เป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้า ขึ้นทะเบียนรายชื่อและรายการสินค้าและบริการในระบบ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนกว่า 10,000 ราย ซึ่งที่ผ่านมา สสว. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จูงใจให้ เอสเอ็มอีในเครือข่ายเข้ารับสิทธิประโยชน์จากมาตรการ 

ด้านศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวง อว. ยินดีที่จะร่วมขับเคลื่อนมาตรการ THAI SME-GP ของ สสว. ให้เผยแพร่ออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ที่จะร่วมเป็นเครือข่ายประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้และการขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ไปสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขณะที่สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยและหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. กว่า 100 หน่วยงาน รวมถึงศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นกลไกพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้ากับหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวง อว. มีไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ทั่วประเทศ จะเป็นกลุ่มนำร่องที่จะได้รับการแนะนำ อบรม ช่วยเหลือให้ขึ้นทะเบียนในระบบเพื่อรับโอกาสการเข้าสู่ตลาดภาครัฐ ซึ่งเป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเอสเอ็มอีอีกทางหนึ่ง 

สำหรับมาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าที่จะเกิดกับเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งกฎกระทรวงฯ กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ อาทิ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาของรัฐ ฯลฯ คิดเป็นหน่วยจัดซื้อถึง 114,532 หน่วยทั่วประเทศ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/บริการจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ขึ้นบัญชีไว้กับ สสว. หรือระบบ THAI SME-GP ในวงเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว 

โดยสิทธิประโยชน์ที่เอสเอ็มอี จะได้รับผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง 2 วิธี คือ 1.วิธีคัดเลือก ซึ่งเพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอีในท้องถิ่น โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ คัดเลือกสินค้า/บริการของเอสเอ็มอี ในพื้นที่จังหวัดที่ตั้งของหน่วยงานจำนวนไม่น้อยกว่า 3 รายก่อน หากไม่มี หรือมีไม่ครบจึงหาจากพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างไว้กับ สสว. คือบริษัท ค๊อกโค่ (ไทยแลนด์) จังหวัดน่าน ได้รับการซื้อสินค้าจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเรียบร้อยแล้ว 2.วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ที่ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการให้แต้มต่อไม่เกินร้อยละ 10 กับ SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ 

สำหรับเอสเอ็มอีที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการ จะต้องเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา หรือวิสาหกิจชุมชน ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามนิยาม SME ที่ สสว. กำหนด คือ หากอยู่ในภาคการผลิต จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ส่วนภาคการค้าและบริการ จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี ที่สำคัญจะต้องขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP

อย่างไรก็ดี ระบบ THAI SME-GP ได้มีการพัฒนาเมื่อปลายปี 2563 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนในระบบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยภาคธุรกิจที่มีการขึ้นทะเบียนมากที่สุด คือ ภาคบริการ ส่วนสินค้าที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงาน 2.เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่ง 3.ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง 4.เทคโนโลยีและสารสนเทศ การสื่อสารและโทรคมนาคม และ 5.บริการด้านการก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคาร ส่วนจังหวัดที่มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และเชียงใหม่ 

“ในช่วงที่ผ่านมามี SME หลายราย ขึ้นทะเบียนไม่ทันกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เนื่องจาก สสว. ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบประมาณ 7 วันทำการ ดังนั้น ถ้าไม่อยากพลาดโอกาส ขอให้เอสเอ็มอีขึ้นทะเบียน  ไว้ล่วงหน้าและเพิ่มรายการสินค้าและบริการให้พร้อม เพื่อจูงใจให้ภาครัฐเข้ามาค้นหาและเลือกเข้าไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ในการขึ้นทะเบียน THAI SME-GP ผู้ประกอบการสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองผ่าน www.thaismegp.com ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” ผอ.สสว. กล่าว