ส.อ.ท. เข้าพบเศรษฐา เสนอ 8 แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

ส.อ.ท. พบนายกฯ เสนอ 8 แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

อัปเดตล่าสุด 6 ต.ค. 2566
  • Share :
  • 33,008 Reads   

สภาอุตสาหกรรมฯ เข้าพบนายกรัฐมนตรี เสนอ 8 แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย อาทิ การเร่งแก้ไขปัญหาพลังงาน-แรงงาน การปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business รวมทั้ง การเร่งเสริมสภาพคล่อง SMEs และยกระดับขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมการผลิต สู่ Digital Transformation 4.0 

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมคณะผู้บริหาร ส.อ.ท. เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือและนำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการดำเนินงานในทุกมิติเพื่อทำงานแบบบูรณาการ และพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังคงเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมไทย และพยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย สู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นเรื่องของคลีน (Clean) กรีน (Green) และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

“เราได้นำเสนอข้อเสนอแนะแก่นายกรัฐมนตรี ที่ประกอบด้วยข้อเสนอแนะ 8 ข้อหลัก จาก 70 ข้อ โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้าน คือ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การขับเคลื่อน GDP ให้เติบโตมากขึ้น และความยั่งยืน ทั้งเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG” นายเกรียงไกร กล่าวเสริม

ในที่ประชุม ส.อ.ท. ได้เสนอแนะ 8 แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ได้แก่

1. การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ

1)  กำหนดให้การปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Reform) เป็นวาระแห่งชาติ โดยใช้กลไกผ่านวิธีการแก้ไขกฎหมายกลาง (Omnibus Laws) และ Regulatory Guillotine
2)  บูรณาการในการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติระหว่างหน่วยงานภาครัฐให้เกิดความชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
3)  รวมศูนย์บริการและขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ แบบ One Stop Service ณ จุดเดียว โดยเฉพาะการขออนุมัติอนุญาตประกอบกิจการ

2. การพัฒนาบุคลากร เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ

1)  การปรับอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าควรเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ค่าจ้างไตรภาคี พิจารณาสอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ โดยให้ยึดข้อเสนอ/ข้อมูลจากคณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละจังหวัดเป็นหลักในการพิจารณา
2)  การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้ง Upskill/ Reskill/ Multi Skill/ Future Skill ให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ
3)  ส่งเสริมให้จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) และเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานครบทุกสาขาอาชีพ

3. การบริหารจัดการด้านพลังงานทั้งระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition)

1)  เร่งพิจารณาทบทวนแผนพลังงานชาติ หรือ National Energy Plan (NEP) ฉบับใหม่
2)  ลดภาระต้นทุนพลังงาน และค่าไฟฟ้า โดยบริหารจัดการ Reserve Capacity และทบทวนโครงสร้างพลังงานที่เกี่ยวข้องกับค่า Ft รวมถึงบริหารและจัดสรรก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสม
3)  เร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ. พลังงาน)

4. การส่งเสริมการส่งออก การค้า และสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)

1)  เร่งสร้างกลไกและแผนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่มีศักยภาพ รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้มีความต่อเนื่องและครอบคลุม Ecosystem ของอุตสาหกรรม
2)  เร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เช่น FTA ไทย - EU, ไทย - EFTA, ไทย - GCC, อาเซียน - แคนาดา, ไทย – US เป็นต้น
3)  เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับสินค้า Made in Thailand (MiT) ให้ได้รับแต้มต่อเป็น 10% และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับภาคเอกชนให้สามารถนำยอดซื้อมาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
4)  ปกป้องสินค้าไทยโดยการควบคุมสินค้านำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพ

5. การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล

1)  สนับสนุนการลงทุนพัฒนาไปสู่ Digital Transformation 4.0 เพื่อยกระดับขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมการผลิต และ SMEs ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
2)  ขับเคลื่อนการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) รายอุตสาหกรรม และรายภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนวิจัยพัฒนา/วิเคราะห์ทดสอบ
3)  ออกมาตรการส่งเสริมภาคเอกชนให้เกิดการซื้อสินค้าในบัญชีนวัตกรรม เพื่อขยายตลาดเข้าสู่ตลาดภาคเอกชน เช่น นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าในบัญชีนวัตกรรม มาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

6. การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า และการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

1)  บูรณาการการบริหารจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน เช่น เร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญ ลดการสูญเสียน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพท่อส่งน้ำ (Water Grid) การจัดตั้งกองทุนน้ำ พัฒนาระบบชลประทาน เป็นต้น
2)  เตรียมความพร้อมในการรับมือมาตรการ Climate Change เช่น จัดทำ Climate Fund, มาตรการส่งเสริมการลด GHG, จัดทำมาตรการ Emission Trading System (ETS), ขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน 4D 1 E เป็นต้น
3)  ผลักดันการดำเนินการอุตสาหกรรมสีเขียว และเพิ่มมูลค่าสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) โดยส่งเสริมการใช้ Circular Materials , การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR)

7. การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs

1)  ออกมาตรการการเงิน เสริมสภาพคล่อง SMEs เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่า (Soft Loan), มาตรการค้าประกันสินเชื่อเพื่อ SME, มาตรการพักดอกลดต้น เป็นต้น
2)  ปรับอัตราภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs
3)  ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ลด 5 % จากอัตราเดิม
4)  จัดตั้งกองทุนเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับ SMEs เพื่อให้ SME นำเทคโนโลยี Automation & Robotic มาลดต้นทุนการผลิต และทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน

8. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Logistics และพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม

1)  แก้ไขปัญหาความแออัด ณ บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในรูปแบบ Shift Mode (เรือ-ราง)
2)  ยกระดับด่านชายแดนเป็นจุดผ่านแดนถาวร ได้แก่ จุดผ่อนปรนบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุมยวน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และระหว่างไทย - กัมพูชา ได้แก่ จุดผ่อนปรนการค้าบ้านซับตารี อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
3)  ปรับปรุงผังเมืองทั่วประเทศ ให้พื้นที่เกษตรกรรมสามารถรองรับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)

ระหว่างการหารือ นายเศรษฐา รับฟังข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้น โดยเน้นย้ำว่าปัญหาที่เราเจอขณะนี้อย่างหนักหน่วง คือ ปัญหาภัยแล้ง โดยต้องมีการบริหารจัดการน้ำรอบด้าน และอยากให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการและภาคเอกชน เดินหน้าจัดทำแผนการดำเนินงาน (Action plan) ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวที่ชัดเจน เนื่องจากเดือนเมษายนปี 2567 ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยก็จะประสบปัญหาภัยแล้งอีกครั้ง และสำหรับประเด็นอื่นๆ จะแบ่งการทำงานออกเป็นทีม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH