ระดมความเห็น “จากขวดสี สู่ขวดใส ความใส่ใจของแบรนด์รักษ์โลก” ได้เสียงสนับสนุนเต็ม
ส.อ.ท. จัดเสวนาออนไลน์ “จากขวดสี สู่ขวดใส ความใส่ใจของแบรนด์รักษ์โลก” ได้เสียงสนับสนุนเต็ม เตรียมรวบความเห็นเสนอ สมอ. ใช้เป็นแนวทางกำหนดมาตรฐานในรูปแบบข้อตกลงร่วม
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสายงานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม ได้จัดการเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “จากขวดสี สู่ขวดใส ความใส่ใจของแบรนด์รักษ์โลก” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานขวด PET ทั้งหมดครบวงจร ตั้งแต่ ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้แปรรูป เจ้าของสินค้า(Brand Owner) ไปจนถึงกลุ่มผู้จัดเก็บขยะ ธุรกิจรีไซเคิล รวมถึงภาคราชการ องค์กรวิชาการ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 100 ท่าน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกเกิดขึ้นปีละประมาณ 2 ล้านตัน แต่ถูกนำกลับมารีไซเคิลเพียง 1 ใน 4 (5 แสนตัน) ที่เหลือจะถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ หรือนำไปเผาเพื่อเป็นพลังงาน บางส่วนหลุดลอดเป็นขยะพลาสติกที่อยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง และท้องทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ห่วงโซ่อาหาร และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในที่สุด
สำหรับพลาสติกชนิด PET มีการผลิตใช้ในประเทศประมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี โดยแบ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ 40% (5.6 แสนตัน) เส้นใย 55% (7.7 แสนตัน) และอื่นๆ อีก 5% (7 หมื่นตัน) ซึ่งประเภทบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นขวด PET ใส เพื่อผลิตเป็นเส้นใย สำหรับขวด PET สีไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากขวด PET สี แปรรูปได้ผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าต่ำ จึงส่งผลต่อแรงจูงใจในการรับซื้อและการเก็บรวบรวม ไม่คุ้มค่าเมื่อรวมกับต้นทุนการขนส่งด้วย โดยมีข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจเก็บรวบรวม พบว่า ขวด PET สี มีราคา 1 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ขวดใสมีมูลค่า 6-7.50 บาท/กิโลกรัม
นอกจากเวทีเสวนา จะได้แลกเปลี่ยนถึงประเด็นปัญหาแล้ว ยังร่วมเสนอแนะแนวทางในการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ PET จากขวดสี บนพื้นฐานของความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้ามีความรับผิดชอบต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสินค้าตลอดวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ และได้ยกตัวอย่างการยกเลิก/สร้างแนวทางในการใช้ขวด PET สี เช่น การออกแบบขวดใสให้เป็นลายนูน การใช้ฉลากหุ้ม การใช้พลาสติกชีวภาพ (Bio-PET / PLA) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในประเทศพัฒนาแล้ว
สรุปผลการเสวนา
ผู้เข้าร่วมมีความเห็นสอดคล้องกันในการสนับสนุนให้เกิดการใช้ขวด PET ใส เนื่องจากเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยรวม โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะรวบรวมประเด็นข้อคิดเห็นต่างๆ จากการเสวนา เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานต่ออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยจะใช้แนวทางการกำหนดมาตรฐานในรูปแบบข้อตกลงร่วม (Workshop Agreement) ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว และยังไม่มีเงื่อนไขการบังคับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการในการปรับตัว และกำหนดเป้าหมายที่ยั่งยืนร่วมกันได้ต่อไป
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- นิยามใหม่ SME ปี 63 ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- 8 แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในอนาคต (8 Industry’s Mega Trend)
- 10 รับเหมาฝ่าวิกฤตโกยรายได้ปี”62 ITD ยืนหนึ่ง “ซิโน-ไทยฯ” แซงหน้า “ช.การช่าง”
- บอร์กวอร์เนอร์ (BorgWarner) ฉลองเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่นิคมฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง)
- เซ็นแล้ว! 'อู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก' เฟสแรกเสร็จปี 67
- ยอดขายรถยนต์เมษายน 2564
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH