FACO, FIBO AGAINST COVID-19: FACO, หุ่นยนต์ไทยช่วยผู้ป่วยโควิด

“FIBO AGAINST COVID-19: FACO” หุ่นยนต์ไทยช่วยผู้ป่วยโควิด พร้อมปฏิบัติงานแล้ว

อัปเดตล่าสุด 11 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 1,116 Reads   

FACO ระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ได้ผ่านการทดสอบการทำงานของระบบหุ่นยนต์และระบบควบคุมส่วนกลางในสภาวะเสมือนจริงแล้ว โดย FIBO เตรียมส่งมอบเพื่อปฏิบัติงานจริงในโรงพยาบาลเร็ว ๆ นี้​

ระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา “FIBO AGAINST COVID-19: FACO” จากความร่วมมือและแรงสนับสนุนของภาคเอกชน สู่การทุ่มเทพัฒนาหุ่นยนต์ไทย โดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พร้อมส่งมอบหุ่นยนต์ FACO เพื่อปฏิบัติงานจริงแล้ว โดยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ทีมพัฒนาได้จำลองการทดสอบการทำงานของระบบหุ่นยนต์และระบบควบคุมส่วนกลางในสภาวะเสมือนจริง ซึ่งหุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ไร้ข้อผิดพลาด ตอบโจทย์การทำงานเพื่อช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ในโรงพยาบาล

ต้นแบบชุดระบบหุ่นยนต์บนแพลตฟอร์มการควบคุม “FACO” ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโรค COVID-19 รวมทั้งลดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อ หุ่นยนต์ในชุดระบบฯ มีด้วยกัน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

 

1. CARVER-Cab 2020a 

 

หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (Free Navigate) ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย สามารถบรรจุถาดอาหาร ได้ถึง 20 ถาดในคราวเดียว พร้อมฟังก์ชั่นฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัสตลอดการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator

2. SOFA 

หุ่นยนต์บริการที่ติดตั้งจอแสดงผลที่สามารถแสดงข้อมูลการรักษาหรือผลการตรวจที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล โดยแพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย มีกล้องถ่ายความร้อน (Thermal Camera) เพื่อจับอุณหภูมิร่างกาย กล้องความละเอียดสูงที่สามารถขยายได้ถึง 20 เท่า ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจอาการจากสภาพภายนอกของผู้ป่วย อาทิ ตา ลิ้น ได้จากระยะไกล รวมถึงสามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบวิดีโอคอล

3. Service Robot 

หุ่นยนต์ส่งยาและอาหารเฉพาะจุด สำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ สามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อัตโนมัติโดยการควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลาง ผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้

ซึ่งหุ่นยนต์ทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อผ่านระบบไวไฟหลักของโรงพยาบาล และในอนาคตจะนำเทคโนโลยี 5G 2600 MHz มาเสริมความสามารถให้กับหุ่นยนต์ และข้อมูลส่งผ่านขึ้นคลาวน์ด้วย 5G 26-28 GHz ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ FACO ได้ที่ Facebook Fan Page : FIBO 

 

อ่านเพิ่มเติม: