320-อุตสาหกรรมรถยนต์-หลังโควิด-มิตซูบิชิปลดพนักงาน-นิสสันเลิกจ้าง

ค่ายรถอ่วมพาเหรดปลดพนักงาน ‘มิตซูบิชิ’ นำร่องจ่ายสูงสุด 35 เดือน

อัปเดตล่าสุด 15 พ.ค. 2563
  • Share :

อุตสาหกรรมรถยนต์-ชิ้นส่วนปรับใหญ่ หลังโควิด-19 กระทบหนัก โรงงานผลิตจ่อโละคนหันใช้โรบอต ชะลอระบบจัสต์อินไทม์ ยอมสต๊อกชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้น “มิตซูบิชิ” นำร่องเปิดโครงการสมัครใจลาออกจ่ายสูงสุด 35 เดือน ขณะที่ “นิสสัน” รีดไขมันแล้ว 300 ราย

แหล่งข่าววงการอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวโน้มและทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบจะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งในแง่การทำงาน ปริมาณการผลิต และระบบต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ที่เห็นชัดเจนคือการหยุดไลน์ผลิตชั่วคราว ซึ่งทำกันทุกยี่ห้อ เป้าหมายนอกจากปรับสมดุลดีมานด์และซัพพลายในตลาดให้สอดรับกับยอดขายรถยนต์ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ซึ่งประเมินกันว่าตกต่ำสุดในรอบ 10 ปีแล้วยังช่วยรักษาแรงงานฝีมือไว้ให้มากที่สุด

ซับคอนแทร็กต์เป้าหมายแรก

แหล่งข่าวกล่าวว่า กระแส new normal ที่จะต้องนำมาใช้หลังจากสถานการณ์ไวรัสคลี่คลายและหลายโรงงานกลับมาเดินเครื่องได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งทำคือ การคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของพนักงาน แต่ละโรงงานมีความจำเป็นต้องปรับลดความหนาแน่นในโรงงาน เพิ่มหรือเว้นระยะห่าง ทุกโรงงานจะเลือกนำระบบออโตเมชั่นหรือโรบอตมาทดแทนแรงงาน ซึ่งพนักงานกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบก่อนคือ กลุ่มพนักงานสัญญาจ้างหรือซับคอนแทร็กต์โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วน

กรณีค่ายรถยนต์อย่างฟอร์ด-มาสด้ามีการปรับตัวลดคนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจ่ายชดเชยตามกฎหมายแรงงานหันไปใช้เอาต์ซอร์ซ หรือกรณีบริษัท วายเอ็มพี ไทยแลนด์ จำกัด และซัมมิท ออโต บอดี้ อินดัสตรี ก็ได้มีการคืนพนักงานอัตราจ้างจำนวนหนึ่งไปกับบริษัทจัดหางาน เช่นเดียวกับกรณีของไทยซัมมิท พีเคเค ช่วงที่หยุดผลิตชั่วคราวตั้งแต่ 30 เมษายน-31 พฤษภาคม 2563

มิตซูบิชิเปิดโครงการสมัครใจลาออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทมิตซูบิชิได้ประกาศ “โครงการสมัครใจลาออก” โดยให้เหตุผลว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ยอดขายรถยนต์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดภายในประเทศและส่งออก จำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงาน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นพนักงานประจำที่มีอายุงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีอายุน้อยกว่าหรือเทียบเท่า 54 ปีบริบูรณ์ และพนักงานที่จะเกษียณอายุในปี 2563 จะไม่มีสิทธิ โดยให้เงินช่วยเหลือตามแต่ละช่วงอายุ พนักงาน และอายุการทำงาน 8-35 เดือน

อาทิ พนักงานอายุ 27-39 ปี ทำงานตั้งแต่ 1-2 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือ 8 เดือน, อายุงาน 3-5 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือ 11 เดือน จนถึงกลุ่มที่อายุงาน 20-24 ปี ได้เงินช่วยเหลือ 25 เดือนพนักงานอายุ 40-44 ปี ทำงานตั้งแต่ 1-2 ปี ได้เงินช่วยเหลือ 9 เดือน จนถึงอายุงาน 25 ปีขึ้นไป ได้เงินช่วยเหลือ 30 เดือน ฯลฯ
พนักงานที่อายุ 45-50 ปี ทำงานตั้งแต่ 1-2 ปี ได้เงินช่วยเหลือ 12 เดือน จนถึงอายุงาน 25 ปีขึ้นไป ได้เงินช่วยเหลือ 33 เดือน พนักงานอายุ 51-54 ปี ทำงานตั้งแต่ 1-2 ปี ได้เงินช่วยเหลือ 17 เดือน จนถึงอายุงาน 25 ปีขึ้นไป ได้เงินช่วยเหลือ 35 เดือน เป็นต้น

พนักงานที่เข้าร่วมโครงการบริษัทยังได้จัดโครงการฝึกอาชีพใหม่โดยรวมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จ.ระยอง, ชลบุรี และกรุงเทพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายยื่นความสมัครใจได้ 7 พ.ค.-6 มิ.ย.นี้

นิสสันโละแล้ว 300 คน

แหล่งข่าวจากบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์หดตัวลงเยอะมาก ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับพนักงานสัญญาจ้าง 300 คน จากจำนวน 1,900 คน เพื่อรอดูความชัดเจนในการรุกตลาดของนิสสันทั่วโลก ประกอบด้วย

“ตอนนี้เราผลิตแค่โรงงานฝั่ง กม.21 ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 เราหยุดผลิตถึง 31 พ.ค.นี้ โดยบริษัทยังคงจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานตามกฎหมายกำหนด 85% และ 100% และนิสสันยังประกาศสมัครใจลาออก ตอนนี้นอกจากจะให้ภาครัฐเข้ามาดูแลพนักงานที่ประสบปัญหาแล้วรัฐบาลควรหันมามองบริษัทและนายจ้างที่ยังต้องเปิดไลน์ผลิตในช่วงวิกฤต เพื่อช่วยเหลือใน ค่าไฟ ค่าน้ำ เพราะถ้านายจ้างไม่เปิดทำงานลูกจ้างอย่างพวกเราก็จะไม่มีงานด้วย”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสอบถามไปยังกลุ่มผู้ผลิตยี่ห้ออื่น ๆ แม้จะยังไม่มีคำตอบ แต่จากภาวะการหดตัวของตลาดรถยนต์ เชื่อได้ว่าน่าจะมีอีกหลายโรงงานที่ต้องปรับลดจำนวนพนักงานให้สอดรับการกำลังการผลิตที่น้อยลง โดยก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ประเมินสถานการณ์ตลาดรถยนต์ปีนี้ว่า หากโรงงานประกอบรถยนต์กลับมาผลิตได้เร็วภายในเดือนมิถุนายน เป้าหมายการผลิตปีนี้น่าจะมีได้ถึง 1.4 ล้านคัน ลดลงจากเป้าเดิมถึง 6 แสนคัน

ชี้โรงงานสต๊อกชิ้นส่วนมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า กระบวนการผลิตรถยนต์ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาต้องปิดโรงงานกันหลายเดือนนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการชัตดาวน์การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในจีน แล้วส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย แม้ว่าหลายโรงงานในไทยจะใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากถึง 90% ต่อการประกอบรถยนต์ 1 คันก็ตาม แต่มีชิ้นส่วนประเภทอิเล็กทรอนิกส์บางรายการที่ต้องนำเข้า ดังนั้น แนวโน้มของค่ายรถยนต์ต่อจากนี้อาจจะต้องปรับนโยบายจากเดิมที่ใช้ระบบจัสต์อินไทม์ คือไม่ต้องสต๊อกหันมาลดความเสี่ยงในการจัดหาชิ้นส่วนโดยมีการสต๊อกมากขึ้นด้วย


 

อ่านเพิ่มเติม: