ยุโรป-ญี่ปุ่นบูมรถยนต์ไฟฟ้า เข็น 11 แบรนด์ดันยอด 5 พันคัน

ยุโรป-ญี่ปุ่นบูมรถยนต์ไฟฟ้า เข็น 11 แบรนด์ดันยอด 5 พันคัน

อัปเดตล่าสุด 8 ก.ย. 2563
  • Share :

ค่ายรถบูมตลาดรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ยุโรป-ญี่ปุ่นเสริมทัพโมเดลใหม่สุดตัว ลั่นถึงสิ้นปีทะลุ 5 พันคัน มั่นใจรัฐบาลหนุนนโยบายรถเก่าแลกรถอีวีใหม่ได้สิทธิพิเศษเพียบ “เอ็มจี อี5”-“ไมน์ สปาวัน” พร้อมอวดโฉมปลายปีนี้ ค่ายญี่ปุ่นเร่งเทงบฯลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ นำร่อง “ปลั๊ก-อิน ไฮบริด” หวังต่อยอดไปสู่แบตเตอรี่ 100%

แหล่งข่าวจากสมาคมรถยนต์ไฟฟ้าไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มและพฤติกรรมการใช้รถปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) กำลังได้ความสนใจมากขึ้น ด้วยผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองเห็นโอกาสและพยายามนำเสนอโปรดักต์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา ประกอบกับรัฐบาลให้การสนับสนุนเต็มที่ ล่าสุดก็กำลังผลักดันนโยบายรถเก่าแลกรถยนต์ไฟฟ้ารับสิทธิพิเศษทั้งส่วนลดและภาษี

 

ฟันธงปีนี้ทะลุ 5 พันคัน

ยิ่งดูจากเป้าหมายและนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ (EV) กำหนดชัดว่า ในปี 2569-2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ให้ได้ 30% ของการผลิตทั้งหมด หรือ 750,000 คัน และปี 2563-2565 รัฐบาลต้องผลักดันการใช้ EV ในรถราชการ รถสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 60,000-110,000 คัน ทำให้มั่นใจว่าจบปี 2563 นี้ประเทศไทยน่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) มากกว่า 5,000 คัน

11 แบรนด์พร้อมทำตลาดในไทย

นายกฤษฎา อุตตโมตย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ดูจากแนวโน้มและยอดจดทะเบียนรถอีวีในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ยังได้ร่วมกับสำนักงบฯ เชิญสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าร่วมหารือ เพื่อพิจารณากำหนดบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า เพิ่มเติมในส่วนของรถยนต์นั่ง เพื่อให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจสามารถจัดซื้อยานยนต์ไฟฟ้าได้ ทำให้เชื่อว่าโอกาสเกิดของรถยนต์ไฟฟ้าเร็วขึ้นแน่ โดยปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ทำตลาดในไทยถึง 11 ยี่ห้อ จำนวน 13 รุ่นได้แก่ ออดี้ อี-ตรอน, บีเอ็มดับเบิลยู ไอ3 เอส, บีวายดี e6 และ M3/T3, ฟอมม์ วัน, ฮุนได โคน่า และไอโอนิค, จากัวร์ ไอ-เพซ, เกีย โซล อีวี, เอ็มจี แซดเอส อีวี, มินิ คูเปอร์เอสอี, นิสสัน ลีฟ ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้า มีทั้งสิ้น 557 แห่ง มี 1,818 หัวชาร์จ แบ่งเป็น หัวชาร์จประเภท AC 1,212 หัวชาร์จ และหัวชาร์จประเภท DC 606 แห่ง จากผู้ให้บริการ 10 ราย

จดทะเบียนรถอีวีครึ่งปี 3 พันคัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถิติยอดจดทะเบียนสะสมของรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ในช่วง ปี พ.ศ. 2558-มิถุนายน 2563 พบว่า มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 4,301 คัน แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ 2,301 คัน รถยนต์ 1,731 คัน รถบัส 120 คัน และรถสามล้อ 149 คัน ขณะที่รถยนต์ไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด มีจำนวนทั้งสิ้น 167,767 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 162,192 คัน รถจักรยานยนต์ 5,573 คัน รถบัส 1 คัน และรถบรรทุก 1 คัน

ส่วนยอดทะเบียนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเเบตเตอรี่ (BEV) มีจำนวน 3,076 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 2,402 คัน รถจักรยานยนต์ 658 คัน รถบัส 2 คัน และสามล้อไฟฟ้า 14 คัน

เอ็มจีดันรถไฟฟ้าสุดตัว

นายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลังจากเอ็มจีได้เปิดตัวรถเอสยูวีไฟฟ้าอย่าง แซดเอส อีวี ออกสู่ตลาด ปีนี้บริษัทมีแผนขยายและลงทุนติดตั้งจุดชาร์จในรูปแบบ DC จำนวน 100 แห่ง ในโชว์รูมและศูนย์บริการเอ็มจีทั่วประเทศ และภายในปี 2564 จะเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จอีกเท่าตัว ก่อนที่จะเดินหน้าแผนงานในระยะที่ 2 เพื่อขยายจำนวนสถานีชาร์จไปยังเส้นทางหลักตามทางหลวง และจะเพิ่มสถานีชาร์จที่ศูนย์การค้า ออฟฟิศ หมู่บ้าน ที่พักอาศัย นอกจากนี้ เอ็มจียังมีแผนจะแนะนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่และรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ออกสู่ตลาดประเทศไทย

ขณะที่แหล่งข่าวจากเอ็มจีเปิดเผยว่า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ บริษัทมีแผนจะแนะนำออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีนี้นั้น ยังคงเป็นรถยนต์ในกลุ่มรถเอสยูวี หลังจากบริษัทประสบความสำเร็จจากการแนะนำ เอ็มจี แซดเอส อีวี ที่มียอดขายในปี 2562 ที่ผ่านมา มากถึง 1,197 คัน และปีนี้ผ่านมา 7 เดือน มียอดขายไปแล้ว 220 คัน โดยรุ่นใหม่จะเป็น เอ็มจี HS (EV) และเอ็มจี e5 (EV)

แนะรัฐกระตุ้นดีมานด์ทั้งระบบ

นายธนานันต์ กาญจนคูหา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังได้รับการส่งเสริมการลงทุนและผลิตรถยนต์ไฟฟ้า FOMM One ออกสู่ตลาดเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา มียอดขายไปเกือบ 700 คัน ส่วนปีนี้ตั้งเป้าจะมียอดขายที่ 1,000 คัน จาก 6 เดือนขายได้ 200 คัน สำหรับการตอบรับของลูกค้าในช่วงที่ผ่านมายอมรับว่า ยังไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพตลาดและนโยบายการส่งเสริม โรดแมปของประเทศไทยในเรื่องอีวียังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ชัดเจนทั้งระบบ

“ผมมองว่าการที่จะสร้างดีมานด์ของรถอีวีให้เกิดขึ้นนั้น ประเทศไทยต้องทำให้เหมือนประเทศอื่น ๆ คือคิดทั้งระบบ สนับสนุนทั้งด้านภาษี ระบบสาธารณูปโภคในการรองรับ เพื่อส่งเสริมให้รถอีวีมีความแพร่หลาย เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะการเริ่มต้นด้วยการนำร่องจากรถของหน่วยงานราชการก่อนก็ได้ แต่ทุกวันนี้เงื่อนไขต่าง ๆ ยังไม่เอื้อเท่าที่ควร”

เบนซ์-บีเอ็มฯจี้เปลี่ยนพฤติกรรม

นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การผลักดันรถอีวีต้องมีการนำร่อง ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมเจ้าของรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ให้ขยันชาร์จไฟ จึงได้ทำแคมเปญ “Charge to Change” ชวนผู้ใช้รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ทุกยี่ห้อร่วมกันชาร์จเพื่อเปลี่ยนโลก ลดปัญหา PM 2.5 สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และได้แจก wallbox เพื่อการชาร์จพลังงานไฟฟ้าแก่รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดจำนวน 150 กล่อง ไปให้บริการในโรงแรมและห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

ขณะที่นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า บีเอ็มฯยังเดินหน้าในการขับเคลื่อนนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้ก้าวสู่การเป็นมาตรฐานใหม่ โดยในครึ่งแรกของปีนี้ได้เผยโฉมรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าจากทั้งแบรนด์บีเอ็มดับเบิลยูและมินิถึง 4 รุ่น พร้อมโครงการ ChargeNow ขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าตามผู้จำหน่ายทั้งหมด 141 หัวจ่าย ใน 63 แห่งทั่วประเทศสามารถอัดประจุไฟฟ้าได้ทั้งรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าล้วนในทุกรุ่นและทุกแบรนด์ โดยจะเพิ่มหัวจ่ายเป็น 150 หัวจ่าย ให้ได้ภายในปี 2563

ญี่ปุ่นนำร่องปลั๊ก-อิน ไฮบริด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความพยายามผลักดันกลุ่มรถอีวีนั้น ในฟากผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น แม้จะดูว่ายังไม่มีความชัดเจน แต่ที่ผ่านมาทุกค่ายก็ยื่นขอรับส่งเสริมจากบีโอไอ ทั้งกลุ่มรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และแบบเพียวแบตเตอรี่ 100% ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งบางรายคืบหน้าถึงขั้นลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ และอื่น ๆ จากการสำรวจพบว่ามีค่ายรถยนต์ชั้นนำให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการนี้จำนวนมาก ซึ่งเริ่มผลิตแล้ว ได้แก่ บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย) จำกัด แบรนด์ฟอมม์ ส่วนยี่ห้ออื่น ๆ ใช้วิธีนำร่องเอารถจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดก่อน อาทิ ออดี้ อี-ตรอน, นิสสัน ลีฟ และเอ็มจี แซดเอส

ขณะที่โตโยต้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, มาสด้า ยังไม่มีความคืบหน้า มีเพียงค่ายมิตซูบิชิเท่านั้นที่ประกาศแผนจะเปิดตัวรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด อย่างเอาท์แลนเดอร์ ในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า เช่นเดียวกับค่ายอีเอ พลังงานบริสุทธิ์ ซึ่งมีรายงานข่าวภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้น่าจะได้เห็น รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น MINE SPA1 ออกจากโรงงานประกอบรถยนต์ของ EA ที่บ้านโพธิ์ ไม่ต่ำกว่า 100 คัน พร้อมกับดำเนินการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสุวรรณภูมิพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มรถแท็กซี่ หลังจากที่ได้มีการเซ็น MOU เพื่อจองสิทธิ์ในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า MINE SPA1 จำนวน 3,500 คัน

นอกจากนี้ EA ยังมีโครงการผลิตรถบัสไฟฟ้า ด้วยการร่วมทุนกับบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ผ่านทางบริษัทลูกคือ บริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง หรือ EMH ในสัดส่วนร้อยละ 40 เพื่อพัฒนารถบัสไฟฟ้าและจัดจำหน่าย โดยขณะนี้กำลังมองไปที่ตลาดรถเมล์-รถโดยสาร-รถร่วมบริการอยู่