แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 2/2564

แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 2/2564

อัปเดตล่าสุด 8 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 848 Reads   

กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 2/2564

Advertisement

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 

คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการยกเลิกมาตรการการคืนภาษีสองออกของจีนสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กบางรายการ ทั้งนี้ ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ได้แก่ ราคาเหล็กในตลาดโลกและในประเทศที่ปรับตัวที่สูงขึ้น รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

คาดว่าดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 5.0 และ 6.0 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทำให้หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น มีความต้องการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการขยายมาตรการปกป้องการนำเข่าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure : SG) ของสหรัฐอเมริกา อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ และโซลาร์เซลล์ของประเทศไทยให้ลดลงได้

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

คาดว่า ดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่องประมาณร้อยละ 3.0 และ 5.0 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดส่งออกโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการขยายโครงข่ายและพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G, Data Center และ IoT ทำให้มีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น 

อุตสาหกรรมรถยนต์

ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 350,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50 

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 470,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า  ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษในยุค New Normal จะขยายตัวค่อนข้างมาก และยังได้อานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับส่งสินค้าทางออนไลน์  

อุตสาหกรรมเซรามิก

คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาดภายในประเทศจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล และการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นตลาดของผู้ประกอบการ รวมทั้งการผลิตเพื่อรองรับตลาดส่งออกหลักอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และการส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

คาดว่าปริมาณการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ คาดการณ์ว่าจะยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้น

อุตสาหกรรมยา

คาดว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.00 ตามแนวโน้มการหดตัวต่อเนื่องของตลาดในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของร้านขายยา สำหรับการส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนาม ลาว และกัมพูชา  

อุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยาง

การผลิตยางรถยนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.00 ตามแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะตลาดส่งออก ในส่วนของการผลิตถุงมือยางคาดว่าจะ
ขยายตัวร้อยละ 15.00 ตามความต้องการใช้ที่สูงขึ้นทั่วโลก สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.00 ตามแนวโน้มปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น     

อุตสาหกรรมอาหาร

คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากวัตถุดิบซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ประกอบกับการบริโภคในตลาดคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน อเมริกา และยุโรป มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่าสินค้าอาหารที่ผลิตเพื่อการส่งออก เช่น สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง ผักและผลไม้แช่แข็ง เครื่องปรุงรส อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป จะมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น


อ่านเพิ่มเติม: