ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว สมุทรปราการ หมิงตี้เคมีคอล สารเคมีตกค้าง

ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ วันที่ 3 ยังปะทุต่อจากสารเคมีตกค้าง กรมโรงงานลงพื้นที่ตรวจสอบ

อัปเดตล่าสุด 7 ก.ค. 2564
  • Share :

ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล กิ่งแก้ว สมุทรปราการ เข้าสู่วันที่สามยังมีไฟปะทุขึ้นต่อเนื่อง จากสารที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ กรมโรงงานนำทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ คาดสารที่เหลืออยู่ตอนนี้มีสไตรีน 1,600 ตัน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายวีระกิตติ์  รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดี กรอ. ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขปัญหาและจัดทำแผนในการป้องกันเหตุ ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่เบื้องต้น พบว่า โรงงานเครื่องจักรเสียหายทั้งหมด และมีสารเคมีตกค้างอยู่ประมาณ 4 -5 ถัง ที่คาดว่าน่าจะเป็นสารเบนเทน ซึ่งองค์ประกอบทางสารเคมีน่าจะเสียหายหมดแล้ว โดยสารเคมีดังกล่าวจะต้องส่งไปทำลายทั้งหมดตามวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ  ขณะที่ซากปรักหักพัง ทั้งในส่วนของโครงสร้างอาคาร เหล็ก อิฐ ปูนต่างๆ ทางโรงงานฯ ต้องดำเนินการแจ้งมายัง กรอ.เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ในเรื่องของการจัดการกากอุตสาหกรรม เนื่องจากว่าอาจมีการปนเปื้อนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สารตกค้างที่ยังอยู่ในพื้นที่สังเกตได้จากความร้อนใต้พื้นดินที่รู้สึกได้ แสดงว่ายังมีโอกาสที่จะปะทุได้อีก ดังนั้น ยังคงต้องฉีดน้ำเลี้ยงไปยังถังที่หลงเหลืออยู่เพื่อเลี้ยงอุณหภูมิไว้ ขณะเดียวกันทางโรงงานฯ กำลังดำเนินการนำสารเคมีบางชนิดมาจับเพื่อให้สามารถขนย้ายได้ง่าย และนำไปกำจัด โดย กรอ.ได้สั่งการให้โรงงานขนออกไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี โดยคาดว่าสารที่เหลืออยู่ตอนนี้มีสไตรีนน่าจะมีประมาณ 1,600 ตัน

ในส่วนของการเก็บตัวอย่างน้ำในคลองชวดลาดข้าว อยู่ทิศตะวันออกของโรงงาน จุดเก็บก่อนไหลผ่านและหลังไหลผ่านโรงงาน ซึ่งจะไหลลงคลองประเวศและเก็บตัวอย่างน้ำในคลองอาจารย์พร ด้านทิศเหนือของโรงงาน และคลองประเวศ รวมทั้งหมด 6 จุดตรวจวัด ซึ่งจะนำเข้าห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่ายในน้ำ รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำภายในโรงงานซึ่งเกิดจากการดับเพลิง จำนวน 2 จุดตรวจวัด รวมทั้งหมด 8 จุดตรวจวัด

การตรวจวัดสภาพอากาศ จุดที่ 1 จุดฉีดวัคซีน นิคมอุตสาหกรรมธัญธานี (เหนือลม ห่างจาก 2 กม) พบสารสไตรีน 0.42 ppm  เบนซีน 0.55 ppm จุดที่ 2 จุด ware house (ใต้ลม ห่างจาก 1 กม) พบสารสไตรีน 0.83 ppm  เบนซีน 0.81 ppm ทั้งนี้ ขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน กำหนดค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันของสารสไตรีนไว้ 3 ระดับ ได้แก่  ระดับที่ 1 มีค่า 20 ppm  (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน) ระดับที่ 2 มีค่า 130 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ร้ายแรง) ระดับที่ 3 มีค่า 1,100 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต)

สำหรับโรงงานหมิงตี้ เป็นโรงงานอุตสาหกรรม จำพวก 3 (โรงงานที่ขนาดเครื่องจักรเกิน 75 แรงม้า หรือคนงานเกิน 75 คน) โรงงานได้มีการประเมินความเสี่ยงตั้งแต่การตั้งโรงงานโดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบทั่วไปอยู่ภายในกำกับดูแลของทางจังหวัด นอกจากนี้ การประเมินความเสี่ยงจะต้องตรวจสอบทุก ๆ 5  ปี

#ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ #โรงงานหมิงตี้ #หมิงตี้เคมีคอล #ไฟไหม้โรงงาน #โรงงานผลิตโฟม #โรงงานผลิตเม็ดโฟม ESP #โรงงานพลาสติก #เม็ดพลาสติก #โรงงานอุตสาหกรรม #เครื่องจักรโรงงาน #สารเคมี #พ.ร.บ.วัตถุอันตราย #กระทรวงอุตสาหกรรม #กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรอ.

 

อ่าน บทเรียน 'หมิงตี้ เคมีคอล' สู่มาตรการป้องกันไฟไหม้โรงงาน ระยะสั้น-ยาว

อ่าน SME D Bank ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH