ภาคอุตสาหกรรม 4 หน่วยงาน เห็นพ้อง Bubble and Seal คุมเข้มโควิดในโรงงาน
ภาคอุตสาหกรรมเห็นพ้องใช้มาตรการ “Bubble and Seal” แยกผู้มีความเสี่ยงในโรงงานกักตัวและทำงานต่อเนื่อง หวังภาคผลิตไม่สะดุด ลดการกระจายความเสี่ยงผู้ติดเชื้อสัมผัสชุมชนใกล้เคียง เล็งหารือนิคมอุตสาหกรรม และหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งด่วน
วันที่ 6 สิงหาคม 2564 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงหรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค แพทย์หญิงนฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ นายปรนนท์ ฐิตะวรรโณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการ
เพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) ผ่านระบบออนไลน์ ในประเด็นแนวทางการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อกำหนดนโยบายของ กนอ.เกี่ยวกับการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรมในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และแนวปฏิบัติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในการแบ่งกลุ่มพนักงานเป็นกลุ่มๆ เพื่อลดการสัมผัสระหว่างกัน หรือ Bubble And Seal และระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ภายในโรงงาน (โรงพยาบาลสนามในโรงงาน) หรือ Factory Isolation โดยแบ่งกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำให้กักตัวในสถานประกอบการ เพื่อจำกัดวงของการระบาดของไวรัสโควิด-19 และทำให้การดำเนินงานในภาคการผลิตยังดำเนินต่อไปได้ตามปกติ
“การเฝ้าสังเกตอาการของผู้มีความเสี่ยงสูงและผู้มีความเสี่ยงต่ำนั้น กรมควบคุมโรคได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรแยกจากกันอย่างชัดเจนเป็นคนละกลุ่ม และยังให้เขาทำงานได้ตามปกติ แต่ต้องเฝ้าสังเกตอาการใกล้ชิด ไม่ให้มีการข้ามกลุ่มกันไปมา ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องปิดโรงงาน ไม่เกิดการระบาดในชุมชน และพนักงานยังคงมีรายได้ เพื่อให้กระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากขณะนี้ต้องยอมรับว่า ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นภาคส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ ดังนั้น เราจะหามาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ดำเนินงานได้อย่างดีที่สุด”นายวีริศ กล่าว
สำหรับมาตรการ Bubble and Seal จะต้องใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคเข้ามากำกับดูแล เช่น ต้องมีการประเมินความเสี่ยงทุกวัน ตรวจคัดกรองกลุ่มที่มีไข้ด้วยแอนติเจนท์ เทสต์ คิท กรณีมีแรงงานเข้ามาใหม่ต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการดูแลด้านสังคมด้วย เช่น จัดเตรียมสถานที่พักในโรงงาน ชุมชน โรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับหากมีผู้ติดเชื้อ รวมทั้งสนับสนุนปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ มีการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ มาตรการ Bubble and Seal ถูกใช้มาแล้วในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง และสามารถจำกัดการระบาดของไวรัสได้ดีในจังหวัดสมุทรสาครในระลอกที่ 2 ดังนั้นจึงมองว่า หาก กนอ.นำไปประยุกต์ใช้กับโรงงานในนิคมฯ ต่างๆ ทั่วประเทศ น่าจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้ ขณะเดียวกันรูปแบบที่ใช้ต้องเหมาะสมกับประเภทกิจการพื้นที่และแรงงานด้วย
"กนอ.จะหารือกับหน่วยงานปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เร่งจัดทำมาตรการ แนวทาง และรูปแบบในการดำเนินการ รวมทั้งอาจจะมีการพัฒนาระบบการแชร์ข้อมูลเพื่อรายงานผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลการดำเนินงานต่อไป ขณะที่กระทรวงดิจิทัลฯ เองก็พร้อมให้ความช่วยเหลือในเรื่องของสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือสัญญาณ WiFi ด้วย" ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวปิดท้าย
#โรงงาน โควิด #แผนฉุกเฉิน โควิด โรงงาน #โควิด-19 #มาตรการ Bubble and Seal #Bubble and Seal #โรงงาน #โรงงานอุตสาหกรรม #COVID-19
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- นิยามใหม่ SME ปี 63 ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- 8 แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในอนาคต (8 Industry’s Mega Trend)
- 10 รับเหมาฝ่าวิกฤตโกยรายได้ปี”62 ITD ยืนหนึ่ง “ซิโน-ไทยฯ” แซงหน้า “ช.การช่าง”
- บอร์กวอร์เนอร์ (BorgWarner) ฉลองเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่นิคมฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง)
- เซ็นแล้ว! 'อู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก' เฟสแรกเสร็จปี 67
- ยอดขายรถยนต์เมษายน 2564
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH