ก.ดิจิทัล โดยทีโอที ผนึก สกพอ. ลงนาม MOU เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม รับ 5G
กระทรวงดิจิทัล โดยทีโอที ผนึกกำลัง สกพอ. ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมรองรับการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ EEC
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 - นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อรองรับระบบสื่อสารต่าง ๆ และเทคโนโลยี 5G ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)โดย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดย นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคาร 9 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการใช้โครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคมและดิจิทัล เพื่อรองรับการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนผู้ประกอบการทั่วโลกให้สนใจเข้าร่วมลงทุนใน EEC โดย สกพอ. ร่วมกับ ทีโอที เตรียมความพร้อมให้บริการระบบ 5G เต็มรูปแบบแก่ภาคอุตสาหกรรมและร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนรายอื่นๆ ในลักษณะการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน (Infrastructure Sharing) เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนระหว่างภาครัฐกับเอกชนใช้ทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เป็นการผูกขาดทางธุรกิจ
ซึ่งทาง สกพอ. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกการดำเนินงาน พร้อมจัดหาโครงการลงทุนที่เกี่ยวข้อง กับ ทีโอที รวมทั้งส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์หน่วยงานรัฐและเอกชนที่ร่วมโครงการดังกล่าว โดยการดำเนินงานในระยะแรก ด้านพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมบริเวณเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ด้านพัฒนาชุมชนโครงการ เมืองอัจฉริยะบ้านฉาง ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยทีโอที มีเป้าหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และในระยะต่อไปการทำโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเพื่อรองรับระบบสื่อสารรวมถึงเทคโนโลยี 5G จะดำเนินการคู่ขนานไปกับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในพื้นที่ EEC
ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ ย้ำด้วยว่า เทคโนโลยี 5G เป็นนวัตกรรมสำคัญจะช่วยสนับสนุนและขยายโอกาสการสรรค์สร้างบริการดิจิทัลให้กว้างขวางและครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความเร็วสูงของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ให้การใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ มีความแม่นยำสูงและความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งจะจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC รวมทั้งสามารถปรับใช้ในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านสาธารณสุขให้เข้าถึงการบริการรักษาการวินิจฉัยโรคแม่นยำ ด้านการเกษตรเพาะปลูกพืชได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมีมูลค่าสูง เก็บรักษาได้ยาวนาน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นต้น ซึ่งบริการ 5G จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ชุมชนครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม สร้างงานสร้างโอกาส ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาบริการ 5G ในพื้นที่ EEC อย่างเต็มที่ ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมเชิงพาณิชย์ สามารถต่อยอดบริการและใช้งานได้จริงในเศรษฐกิจระดับมหภาค สอดคล้องกับบทบาทของกระทรวงฯ ในการสร้างความเชื่อมั่นดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้าสู่ประเทศไทยด้วยการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมบนเทคโนโลยี 5G ของภูมิภาค
อ่านต่อ:
- 5G การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ จนถึงอุตสาหกรรมการผลิต คุณพร้อมหรือยัง?
- เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม