ภาคเอกชน เสนอแนวทางการดำเนินการและข้อเสนอแนะ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19

อัปเดตล่าสุด 28 มี.ค. 2563
  • Share :
  • 502 Reads   

ตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (พรก. ฉุกเฉิน) ณ วันที่ 26 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) นั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จึงได้ร่วมประชุมเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินการและข้อเสนอแนะของภาคเอกชน ที่สนับสนุนมาตรการหยุดยั้งการแพร่กระจายของ COVID-19 ของภาครัฐ โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตฯ ในฐานะประธาน กกร. แถลงภายหลังการประชุม ว่า โดยภาคเอกชนขอให้ภาครัฐดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นยิ่งยวด Critical Industry and Supply Chain (CISC) และการขนส่งสินค้า (Logistics) เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่จำเป็นขาดแคลน ดังนี้

  1. อุตสาหกรรมอาหาร น้ำตาล น้ำมันปาล์ม เครื่องจักรกลการเกษตร การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ พลาสติก แก้วและกระจก เยื่อกระดาษ อลูมิเนียม
  2. อุตสาหกรรมยา สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาง
  3. อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งหุ่ม
  4. อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน
  5. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ

 


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตฯ และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน

โดยหลายธุรกิจมีความจำเป็น (Essential) จะต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรงสามารถดำเนินการได้ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม, เวชภัณฑ์การแพทย์, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ธนาคาร. ธุรกิจการเกษตร, พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ต้องป้อนอุตสาหกรรมข้างต้น ช่องทางการจัดจำหน่าย การขนส่งและโลจิสติกส์

อุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นยิ่งยวด ที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อไป

อุตสาหกรรมอาหาร และ Supply Chain ของอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นวัตถุดิบ เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ที่เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิต) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ

Supply Chain ของอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นบรรจุภัณฑ์ คือ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ที่มี Supply Chain ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม

ทั้งนี้ ยังมีบริษัทจัดเก็บขยะ และบริษัทจำหน่ายเคมีภัณฑ์ห้องปฏิบัติการ (Lab) และสารทำความสะอาดต่าง ๆ ในโรงงาน ที่ยังจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร

กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมสมุนไพร อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ถุงมือยาง)) โดยมีความสำคัญตั้งแต่สินค้าต้นน้ำของแต่ละอุตสาหกรรมจนเป็นสินค้าสำเร็จรูป รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ที่เปลี่ยนมาผลิตแอลกอฮอล์)

อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม มีความสำคัญในส่วนของสินค้าหน้ากากผ้าที่มีความจ้าเป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทออาจชะลอหรือหยุดผลิตสินค้าได้ชั่วคราวสำหรับสิ่งทออื่น ๆ รวมถึงผลิตเพื่อส่งออก แต่ถ้าผลิตอุปกรณ์การแพทย์ เช่น ผ้าชนิดพิเศษเคลือบนาโนซิงค์ ไม่สามารถหยุดได้ เนื่องจากผ้าชนิดนี้ จะมีความต้องการและถือเป็นสิ่งจำเป็น หากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้นเฉพาะโรงงานที่ทำสิ่งทอชนิดนี้ จำเป็นต้องดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มพลังงานที่มีความสำคัญ คือ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมก๊าซ อุตสาหกรรม
พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับการทำงานที่บ้าน ได้แก่ บริการ Cloud Computing และ บริการ Video Conference

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น จารบี น้ำมันเครื่อง สินค้าทำความสะอาด (รวมยาฆ่าเชื้อ) หากขาดแคลนสินค้าเหล่านี้ จะกระทบกับโรงงานและต้องหยุดการผลิตในเวลา 1-2 วัน รวมถึง โรงพยาบาล และสำนักงานต่าง ๆ ที่จะไม่สามารถทำความสะอาดได้


ข้อเสนอของ กกร. ต่อภาครัฐ 

  1. ให้ภาครัฐดูแลโรงงานโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นยิ่งยวด Critical Industry and Supply Chain (CISC) และการขนส่งสินค้า (Logistics) เพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมดังกล่าวหยุดชะงัก
  2. ขอให้งดการจ่ายประกันสังคมสำหรับลูกจ้างและนายจ้าง เป็นระยะเวลา 4 เดือน
  3. ให้ภาครัฐเพิ่มเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ว่างงานหรือถูกเลิกจ้างจากเดิมร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 80
  4. ขอเลื่อนการจ่ายค่าน้ำและค่าไฟออกไป 4 เดือน
  5. ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกัน COVID-19
  6. ให้ระบบสาธารณูปโภคให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
  7. หน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจติดต่อกับภาคเอกชน สามารถให้บริการทางออนไลน์ได้
  8. ให้ผู้ขนส่งสินค้าสามารถส่งสินค้าได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค


อ่านต่อ: แถลงข่าว กกร. เดือน มี.ค. 63