ถอดโมเดลฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วยมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต บีโอไอ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของโลก ที่ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ และห่วงโซ่อุปทานของโลก (Global Supply Chain) กระทบเป็นลูกโซ่ถึงโครงการลงทุนใหม่ที่ต้องชะลอ หรือเลื่อนการลงทุนออกไป เพื่อรอให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
อย่างไรก็ตาม ในวิกฤต มีโอกาส บางอุตสาหกรรมมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีมาตรการเพื่อเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว ขณะเดียวกันสำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ บีโอไอก็มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาจากโควิด-19 และมุ่งสร้างโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างกรณีของบริษัท แอเดียนท์ แอนด์ ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ศรีบริสุทธิ์ ฟอร์จจิ้ง เทคโนโลยี จำกัด
บริษัท แอเดียนท์ แอนด์ ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ศรีบริสุทธิ์ ฟอร์จจิ้ง เทคโนโลยี จำกัด อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากวิกฤตครั้งนี้ แต่ทั้งสองบริษัทเลือกที่จะใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจากบีโอไอ ในกรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรโดยการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตรองรับคำสั่งซื้อที่จะกลับมาในอนาคต
บริษัท แอเดียนท์ แอนด์ ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ผลิตเบาะรถยนต์ หรือชิ้นส่วนเบาะรถยนต์ เช่น หัวหมอน เบาะรองนั่ง พนักพิง และที่พักแขน รายใหญ่ของโลกที่ใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตเบาะรถยนต์ป้อนให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ มาตั้งแต่ปี 2552
นายกิจนา การะเกตุ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท แอเดียนท์ แอนด์ ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อของลูกค้า ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ระดับโลกรายหนึ่งที่จะเปิดตัวรุ่นใหม่ ในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า โดยลูกค้าวางแผนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปทั่วโลก การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของบริษัทฯ
ปัจจุบันแม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ บริษัทฯได้ตัดสินใจดำเนินการยื่นขอรับการส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้นำระบบอัตโนมัติมาใช้ในหลายหน่วยของการผลิต เช่น หน่วยผลิตโฟมเบาะรถยนต์ หน่วยผลิตผ้าหรือหนังหุ้มเบาะรถยนต์ และหน่วยประกอบเบาะรถยนต์ โดยใช้เงินลงทุนรวมกว่า 130 ล้านบาท
“การลงทุนนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในครั้งนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับโรงงานของเราได้ มากขึ้นถึง 20% และการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบีโอไอ ช่วยทำให้ต้นทุนทางภาษีลดลง ทำให้มีเงินทุนมาใช้ในการไปปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงการดูแลพนักงานทั้งเรื่องค่าจ้าง และสวัสดิการ การลงทุนดังกล่าวช่วยให้เราสามารถรักษาระดับการจ้างงาน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอนาคต” นายกิจนากล่าว
ด้านบริษัท ศรีบริสุทธิ์ ฟอร์จจิ้ง เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจากบีโอไอเช่นเดียวกัน โดยนายเฉลิมรัฐ สินบริสุทธิ์ ผู้จัดการทั่วไป กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น บริษัทได้รับผลกระทบพอสมควรจากคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งบริษัทมองว่าช่วงเวลานี้เป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำหุ่นยนต์มาใช้ในขั้นตอนการหยิบชิ้นงาน เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว ลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ประกอบกับบริษัทได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบีโอไอ จึงช่วยเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่จะกลับมาในอนาคต
“ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เราจำเป็นต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตทุกปี เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ก่อนหน้านี้บริษัทได้ยื่นขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ ในด้านการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้จำนวนมาก เรามองเห็นถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามมาตรการเหล่านี้ จึงได้ยื่นขอรับการส่งเสริมด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพิ่มเติม โดยนำระบบอัตโนมัติเข้า มาใช้ และเราใช้ระบบอัตโนมัติที่ผลิตขึ้นในประเทศ จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นกว่าเกณฑ์ปกติ ถือว่าเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากในสถานการณ์ปัจจุบัน” นายเฉลิมรัฐกล่าว
มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ผู้ขอรับคำส่งเสริมต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) หากเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ลงทุนขั้นต่ำเพียง 500,000 บาท โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในกรณีที่โครงการเลือกใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าระบบอัตโนมัติที่มีการปรับเปลี่ยน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต นอกจากจะมีการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรแล้ว ยังมีมาตรการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การลงทุนเพื่อการวิจัยพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรม การลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานสากล และการลงทุน นำระบบดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิตด้วย ผู้สนใจสามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ภายในธันวาคม 2563
อ่านต่อ:
- ‘บีโอไอ’ แก้ล็อกกระตุ้นลงทุน ขอส่งเสริมซ้ำมากกว่า 1 ประเภทได้
- บีโอไอแจง มาตรการช่วยเหลือ SME บรรเทาผลกระทบโควิด-19