เปิดจุดอ่อน ‘จีน’ ในสงครามเทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์

เปิดจุดอ่อน ‘จีน’ ในสงครามเทคโนโลยี

อัปเดตล่าสุด 6 ก.ค. 2563
  • Share :

ถึงแม้ว่าจีนกลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงควอนตัมคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม จีนยังคงตามหลังในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเปรียบเสมือน “หัวใจ” ของเทคโนโลยีที่กล่าวมาทั้งหมด ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ “สหรัฐ” เล่นงาน “จีน” ในสงครามเทคโนโลยี

ล่าสุดเมื่อ 15 พ.ค. 2020 สหรัฐประกาศควบคุมการขายชิปจากบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐให้กับ “หัวเว่ย” รวมถึงกดดันให้ “ทีเอสเอ็มซี” (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกจากไต้หวัน ให้ต้องมาตั้งโรงงานในสหรัฐจะยิ่งกลายเป็นปัญหาการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน เพราะหากสหรัฐสามารถตัดจีนออกจากซัพพลายเชนการผลิตชิปย่อมสร้างผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีจีนอย่างมาก

“เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์” รายงานว่า ปัจจุบันจีนยังคงขาดผู้ผลิตชิปในประเทศเพื่อป้อนบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ อย่างหัวเว่ย “อีริค เจิ้ง” ซีอีโอ “ไอเซห์ รีเสิร์ช” บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชี้ว่าหัวเว่ย ได้สต๊อกชิปสำหรับสถานีฐาน 5G ที่เพียงพอสำหรับใช้งานไปจนถึงช่วงไตรมาส 1/2021 เท่านั้น โดยผู้ผลิตชิปของจีนที่พอมีศักยภาพมีเพียง “เอสเอ็มไอซี” (SMIC) และ “จื่อกวาง จ่วน รุ่ย” (Unisoc) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตสัญชาติจีนยังไม่สามารถทดแทน ผู้ผลิต ชิปจากต่างประเทศได้ในเร็ว ๆ นี้

สำหรับ “เอสเอ็มไอซี” ที่แม้จะเป็นผู้ผลิตที่ทันสมัยที่สุดในจีน แต่สามารถผลิตได้แค่ชิประดับ 14 นาโนเมตรเท่านั้น ยังคงตามหลังผู้ผลิตรายอื่นของโลก โดยเฉพาะ “ทีเอสเอ็มซี” (TSMC) ที่เป็นซัพพลายเออร์หลักของชิป 7 นาโนเมตรให้กับหัวเว่ย และล่าสุดได้ประกาศทดลองการผลิตชิป 3 นาโนเมตรในช่วงต้นปี 2021 และคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตแบบ “แมสโปรดักชั่น” ในช่วงครึ่งหลังปี 2022

ขณะที่ชิปของ “Unisoc” ยังไม่มีศักยภาพพอสำหรับนำมาใช้กับสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยได้ ดังนั้นจีนจึงต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมชิปเพื่อปิดจุดอ่อน “โกลบอล ไทมส์” รายงานว่า “เอสเอ็มไอซี” เตรียมเพิ่มเงินทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาชิป 7 นาโนเมตร มูลค่ากว่า 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการระดมทุนในตลาดรองที่เซี่ยงไฮ้และคาดว่าชิปของบริษัทจีนรายนี้จะสามารถทดแทน “ทีเอสเอ็มซี” ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของจีนยังคงทำได้ยากหากไม่ได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากสหรัฐ “แกรี่ ยาง” ผู้ก่อตั้ง “สกาย ซาก้า” เวนเจอร์แคปิตอลจากปักกิ่ง กล่าวว่า จากบทเรียนของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น พบว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้องพึ่งพาการถ่ายโอนความรู้จากสหรัฐ นอกจากนี้การเข้าถึงเครื่องจักรการผลิตชิป (lithography machine) เป็นอีกอุปสรรคสำคัญของจีน

โดยปัจจุบัน “ASML” บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาด “เครื่องลิโทกราฟี” มากกว่า 60% ซึ่งเมื่อปี 2019 ทางวอชิงตันได้กดดันให้รัฐบาลฮอลแลนด์สั่งห้ามบริษัทแห่งนี้ขายเครื่องให้กับ “เอสเอ็มไอซี” ของจีน

จึงกล่าวได้ว่าการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเป็นจุดอ่อนของจีนในสงครามเทคโนโลยีไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง และจะกลายเป็นเป้าโจมตีโดยสหรัฐ ซึ่งหากความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศบานปลาย อาจส่งผลให้สหรัฐแบนการขายชิปไปยังบริษัทจีนรายอื่น ๆ นอกจากหัวเว่ยอีกด้วย

อ่านต่อ:
ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ คาดปี 2020 ตลาดโต 3.3%