312-มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า-ลงทุน-ผลิตชิ้นส่วน-BOI

BOI อัดแพ็กเกจมอเตอร์ไซค์ EV หนุนเอกชนร่วมผลิตชิ้นส่วนสำคัญ

อัปเดตล่าสุด 9 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 1,528 Reads   

บีโอไอแง้มใช้โมเดลรถยนต์ไฟฟ้าผุดแพ็กเกจหนุนรถมอเตอร์ไซค์อีวี และหนุนผลิตชิ้นส่วนสำคัญพร้อมพัฒนาซัพพลายเออร์หลังถกค่ายรถไทย-เทศเห็นพ้อง ลุ้น “Harley-BMW” พร้อมลุยลงทุน

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นขอมาตรการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ไปแล้วนั้น ทางบีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มขึ้นอีก โดยเน้นในส่วนของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (มอเตอร์ไซค์ EV) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการ และได้หารือกับกลุ่มผู้ประกอบการค่ายรถแล้ว 2 ครั้ง ต่างมีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าควรมีแผนจัดทำเป็นแพ็กเกจเพื่อเสนอบอร์ดบีโอไอ

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุน จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่อาจคล้ายกับรถยนต์EV ซึ่งสิทธิประโยชน์ของรถยนต์ EV มี 2 ส่วน คือ ภาษีสรรพสามิตของกระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 1% ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ กับส่วนของบีโอไอจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นตัวหลัก

“ผมกำลังจะหารือเพิ่มเติมกับกลุ่มผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ในประเทศทั้งไทยและต่างชาติ ได้คุยไปแล้วรอบหนึ่ง แนวทางน่าจะคล้ายกัน แต่ว่าชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์เขาไม่เหมือนกัน ซึ่งหมายความว่าเราอาจจะกำหนดตัวชิ้นส่วนว่าจะยกเว้นภาษีตัวไหนให้เป็นแนวที่คาดว่าจะใกล้เคียงว่าจะทำได้ ส่วนมาตรการการลงทุนจะต้องเทียบเท่ากับรถยนต์ EV หรือไม่นั้น เช่น ลดภาษีนิติบุคคลกี่ปีนั้นต้องขอหารือกันอีกรอบหนึ่ง”

ส่วนเงื่อนไขหากจะใช้โมเดลเดียวกับรถยนต์ EV คือ ถ้ามีการลงทุนจะต้องมีการผลิตชิ้นส่วนและต้องพัฒนาซัพพลายเออร์เป็นเงื่อนไขที่ต้องล้อกันไป ซึ่งถ้าเป็นรถยนต์ EV นั้นจะต้องมีชิ้นส่วนสำคัญ 13 ชิ้น ส่วนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจะมีชิ้นส่วนสำคัญ คือ มอเตอร์ จำนวนชิ้นอาจจะน้อยกว่ารถยนต์ EV

ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการดูฝั่งของดีมานด์ไซด์ ส่วนบีโอไอดูฝั่งซัพพลายการผลิต หารือเอกชนไปแล้ว 2 รอบ อาจจะหารือเพิ่มเติมอีก 1 รอบ สำหรับค่ายรถจักรยานยนต์ที่มีความพร้อมในการทำจักรยานยนต์ EV อย่าง BMW ปัจจุบันผลิตจักรยานยนต์บิ๊กไบก์อยู่แล้ว ซึ่งก็สามารถทำได้

เช่นเดียวกับค่ายรถจักรยานยนต์ Harley เขาก็ทำได้เช่นกัน แต่ด้วยดีมานด์ในประเทศไทยยังน้อย คาดว่าหากมีการลงทุนจริงน่าจะต้องเป็นการผลิตเพื่อส่งออก ความพร้อมของ Harley เนื่องจากที่อเมริกามีเทคโนโลยีอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีค่ายรถจักรยานยนต์อีกจำนวนมากที่พร้อมโดยเฉพาะจีนที่คาดว่าจะมีแนวโน้มมากที่สุด รวมถึงญี่ปุ่น และอเมริกา

“ถามว่ากี่รายที่ทำได้ยังไม่ทราบ เพราะแผนเวลาที่เราประชุมเขาไม่ได้บอกว่าทำได้ไหม ทุกคนจะให้ความคิดเห็นเฉพาะว่าทิศทางควรไปและเป็นแบบไหน แต่ใครมีแผนลงทุนยังไงเขาขอพ้นโควิด-19 ไปก่อนได้ไหม”

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวคิดการจัดทำรถจักรยานยนต์ EV ในประเทศไทยในขณะนี้ คาดว่าได้มีการหารือกันในที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดยานยนต์ไฟฟ้า) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ไปแล้วบางส่วน

เนื่องจากไทยมีนักลงทุนค่ายรถจักรยานยนต์จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่สามารถผลิตบิ๊กไบก์ได้ ซึ่งกลุ่มนี้มีโอกาสสูงที่จะพัฒนาไปสู่รถจักรยานยนต์ EV ในอนาคต และยังเป็นกลุ่มที่มีการตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อการส่งออก โดยตัวเลขเดือน ก.ค. 2563 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ในกลุ่มรถจักรยานยนต์ทั้งการผลิตและยอดขาย เป็นบวกเพียงกลุ่มเดียวเมื่อเทียบกับรถเก๋งส่วนบุคคล และรถกระบะ ดังนั้น เมื่อรถจักรยานยนต์มีอัตราการเติบโตขึ้นต่อเนื่องการพัฒนารถไปเป็นอีวีก็ไม่ใช่เรื่องยาก ด้วยเกิดดีมานด์จากฐานรถจักรยานยนต์อยู่แล้ว

“จำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพราะจะเป็นตัวช่วยดึงดูดการลงทุนเข้ามา และมองว่ารัฐจะต้องเร่งทำมาตรการออกมาเพื่อจะเป็นผู้เริ่มก่อนที่ประเทศใดจะทำก่อน อะไรที่ออกมาส่งเสริมนับเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน”

อนึ่ง ในการประชุมบอร์ดยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังคงผลักดันมาตรการนี้ โดยหวังว่าภายใน 5 ปีไทยจะมีรถ EV คิดเป็น 30% ของปริมาณผลิต 2.5 ล้านคันต่อปี หรือ 750,000 คัน จึงยังต้องเร่งสร้างตลาดในประเทศ โดยระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มจากการส่งเสริมวินสะอาด หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง EV นำร่องก่อน เป้าหมาย 53,000 คันในปี 2563-2565 รวมถึงส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศไทย และประชาชนให้เข้าถึง EV(Smart City Bus)ให้ได้ 5,000 คัน ใน 5 ปีข้างหน้า

 

อ่านเพิ่มเติม: