รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ ซีพี ออลล์ สจล.

ซีพี ออลล์ ผนึก สจล. พัฒนา "เครื่องผลิตกราฟีนระดับอุตสาหกรรม" ตอบรับยุทธศาสตร์ชาติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

อัปเดตล่าสุด 3 ธ.ค. 2564
  • Share :
  • 2,524 Reads   

ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่นเดลิเวอรี่ ร่วม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ลงนามบันทึกความร่วมมือ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ระดับโรงงานอุตสาหกรรม” เสริมสมรรถนะและพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการเชื่อมโยงองค์ความรู้ สู่ธุรกิจใหม่ New S-Curve

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ร่วมกับ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ลงนามบันทึกความร่วมมือ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ระดับโรงงานอุตสาหกรรม” โดยมีคณาจารย์และคณะผู้บริหารร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ เปิดเผยว่า การประสานความร่วมมือด้านการศึกษาในการถ่ายทอดเทคโนโลยีครั้งนี้ เพื่อผลิตและสร้างเครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ขึ้น โดย ซีพี ออลล์ ให้ความสนใจนำกราฟีนมาประยุกต์ใช้ เนื่องจากเล็งเห็นว่า กราฟีน เป็นวัสดุมหัศจรรย์ที่มีประโยชน์อย่างมาก มีส่วนช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศ จึงได้นำนวัตกรรมมาสร้างแอปพลิเคชันใหม่ และเกิดเป็นความร่วมมือในการต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะ นำไปสู่การเกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ (New S-Curve) อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ ในการสร้างบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านกราฟีน

ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับสถาบันการศึกษาที่ตอบรับยุทธศาสตร์ชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Development and Growth) : เติบโต สมดุล ยั่งยืน ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต และดำเนินไปตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน”

ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สำหรับการลงนามความร่วมมือในการพัฒนาขีดความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยี “เครื่องผลิตกราฟีนระดับโรงงานอุตสาหกรรม” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ในอนาคต หลังรศ. ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ พร้อมคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัยจนค้นพบศักยภาพในการผลิตกราฟีนในไทย อันไปนำสู่การจัดตั้ง “โรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนระบบอัตโนมัติระดับอุตสาหกรรม” โรงงานขนาดเล็กนำร่องแห่งแรกในไทย ที่มีศักยภาพในการผลิตกราฟีนที่เพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรมในไทย 15 กิโลกรัมต่อเดือน โดยคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 60-100 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมีราคาต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 50% ทั้งนี้ โรงงานต้นแบบดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนทุนจัดสร้างจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ในวงเงิน 6 ล้านบาท


ภาพห้องและเครื่องผลิตกราฟีนฯ


ด้าน รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์  อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. กล่าวเพิ่มเติมว่า กราฟีน คือวัสดุมหัศจรรย์ มีความหนา 1 ชั้นของโครงสร้างอะตอมคาร์บอนที่เชื่อมด้วยพันธะ 6 เหลี่ยมด้านเท่าคล้ายรวงผึ้ง แบบพันธะโควาเลนต์ มีความแข็งแรงสูงกว่าเหล็กกล้าและเพชร นำไฟฟ้าและความร้อนดีกว่าทองแดง มีพื้นที่ผิวจำเพาะสูง เป็นวัสดุอัจฉริยะที่มา Disruption ในวงการอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นักศึกษาปริญญาเอก ทีมงานนักวิศวกรอุตสาหการ พัฒนาต้นแบบเครื่องผลิตกราฟีน ซึ่งเป็นนวัตกรรมแบบใหม่ที่ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 2562 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และจดสิทธิบัตรต้นแบบเครื่องผลิตกราฟีน ซึ่งโรงงานต้นแบบตั้งอยู่ที่ คณะวิทยาศาสตร์ สจล.


กราฟีนออกไซด์

สำหรับคุณสมบัติพิเศษของ ‘กราฟีน’ เป็นวัสดุที่มีขนาดบาง เบา แข็งแรงทนทาน นำไฟฟ้า และความร้อนได้ดี ไม่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ อีกทั้งป้องกันการก่อตัวของแบคทีเรียได้อีกด้วย โดยสามารถนำมาผสมกับวัสดุต่างๆ ให้มีความแข็งแกร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถรองรับงานผลิตในหลากกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ วัสดุดูดซับและกำจัดเชื้อโรค ในอุตสาหกรรมทางด้านการแพทย์, แผ่นเกราะป้องกันกระสุน ในอุตสาหกรรมด้านยุทโธปกรณ์, ซีเมนต์สมัยใหม่ รางรถไฟสมัยใหม่ ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญหนึ่งในการเข้าถึงวัสดุกราฟีนสำหรับอุตสาหกรรมไทย ที่จะมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ต่าง ๆ ในยุคอุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 ยุครถยนต์ไฟฟ้า คือ งบลงทุนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศสูงถึง 2-10 ล้านบาทต่อ 1 กิโลกรัม นับเป็นความสำเร็จของการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่องค์กรธุรกิจในเชิงพาณิชย์ สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน ตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ

 

อ่านต่อ:

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH