310-ไทยซัมมิทสมัครใจลาออก-อุตสาหกรรม-รถยนต์-ชิ้นส่วน

“จึงรุ่งเรืองกิจ” แจงโครงการ “สมัครใจลาออก” ไทยซัมมิทออร์เดอร์ลดจ่าย 18 เดือน

อัปเดตล่าสุด 6 มิ.ย. 2563
  • Share :

โควิด-19 ยังทุบอุตฯรถยนต์-ชิ้นส่วนต่อเนื่อง “ไทยซัมมิท” เริ่มแผนรัดเข็มขัดเปิดโครงการสมัครใจลาออกจ่ายสูงสุด 18.3 เดือน สภาอุตฯระบุคำสั่งซื้อลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี หวัง 9 โมเดลใหม่ช่วยประคองธุรกิจ

น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดโครงการสมัครใจลาออกของไทยซัมมิทและบริษัทในเครือเป็นไปตามภาวะของธุรกิจ เมื่อคำสั่งซื้อน้อยลงก็จำเป็นต้องปรับแผนผลิตให้สมดุลกัน ซึ่งตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างควบคุมต้นทุนโดยเฉพาะการลงทุนที่ไม่จำเป็น แต่ส่วนการลงทุนใหม่เพื่อรองรับรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ นั้นไทยซัมมิทยังคงเดินหน้าไปตามแผนงานที่ได้คอนเฟิร์มกับลูกค้าไว้

“ภาพรวมเศรษฐกิจที่หดตัว และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ค่อนข้างเยอะ ตอนนี้หลายบริษัทต้องเร่งปรับตัว” น.ส.ชนาพรรณกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคำสั่งซื้อที่ลดลงมาตั้งแต่ต้นปีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค ประกอบด้วย บริษัท ไทยซัมมิท พีเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค จำกัด บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเคเอนจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค บางปะกง จำกัด ผู้ผลิตแชสซีและชิ้นส่วนเกี่ยวกับเฟรมให้กับผู้ผลิตรถยนต์หลายยี่ห้อ ทั้งรถปิกอัพและรถบรรทุก ได้ประกาศโครงการสมัครใจลาออกโดยเปิดรับพนักงานที่สนใจสมัคร ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค.-16 มิ.ย. 2563 โดยยอมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายบวกเงินช่วยเหลือตามระเบียบบริษัทและเงินช่วยเหลือพิเศษรวมสูงสุด 18.3 เดือน ทั้งนี้ ให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการทำงานจนถึงวันที่ 20 มิ.ย. 2563 เป็นวันสุดท้าย

การลดจำนวนพนักงานเพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งซื้อที่ลดลง ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและปรับแรงงานให้สอดรับกับงานที่ทำอยู่ โดยก่อนหน้านี้นายกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ยอมรับว่า ได้ส่งคืนพนักงานอัตราจ้างหรือซับคอนแทร็กต์ให้กับบริษัทจัดหางานจำนวนหนึ่งไปแล้วบางส่วน แต่โรงงานยังมีการจัดซื้อเครื่องจักรใหม่และขยายไลน์ผลิตรองรับรถยนต์รุ่นใหม่ 9 รุ่น ที่ค่ายรถยนต์จะทยอยทำคลอดในปีนี้

“ปีนี้ถือเป็นปีที่ยากลำบาก ปกติแล้วอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี แต่ย้อนหลังไป 5 ปี โตเพียง 2-3% ต่อปีเท่านั้น” นายกรกฤชกล่าว

เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์หลายยี่ห้อก็มีโครงการลดกำลังการผลิต โดยพยายามเปิดเกษียณก่อนอายุงาน หรือโครงการสมัครใจลาออกเพื่อเปลี่ยนอาชีพใหม่

ด้านนายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าคำสั่งซื้อชิ้นส่วนลดลง 5-10% ตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่การเกิดวิกฤตซับไพรมเมื่อปี 2552 ทั้งนี้ ประเทศไทยมีมูลค่าทางการค้าของยานยนต์ 20,726 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออก 18,175 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 2,552 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนมูลค่าการค้าชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยปี 2562 อยู่ที่ 46,055 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออก 24,371 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 21,684 ล้านเหรียญสหรัฐ

อ่านต่อ: