BOI อนุมัติลงทุนกว่า 40 โครงการอุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท
บีโอไอ สนับสนุนไทยเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ อนุมัติลงทุนตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ กว่า 40 โครงการ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมไฟเขียวโครงการร่วมลงทุน ไทย-เกาหลีวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง มูลค่าลงทุนกว่า 400 ล้านบาท
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า บีโอไอมุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มีมาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ ที่สิ้นสุดระยะเวลาการยื่นขอรับการส่งเสริมเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและอยู่ในเกณฑ์ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการนี้ จำนวน 50 โครงการ โดยบีโอไอได้อนุมัติไปแล้ว 42 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 11,999.5 ล้านบาท
สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริม ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วน ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อรองรับความต้องการทั้งในและต่างประเทศในอนาคต เช่น กิจการผลิตหน้ากากอนามัย กิจการผลิตถุงมือยาง นอกจากนี้ยังมีกิจการผลิต Non-Woven Fabric เช่น Spunbond หรือ Melt blown ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์
ตัวอย่างบริษัทที่น่าสนใจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการนี้ ได้แก่ บริษัท แอปสลาเจน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (สัญชาติไทย) และบริษัท HAASE INVESTMENT (สัญชาติเยอรมัน) เพื่อวิจัยพัฒนาหรือผลิตตัวทำปฏิกิริยาชีวภาพในการตรวจวินิจฉัย (BIOLOGICAL REAGENTS) และสารละลายผสมที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย (MASTERMIXES) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการนำไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยระดับโมเลกุลหรือใช้ในการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ด้วยวิธี RT – PCR โดยมีมูลค่าลงทุน 9 ล้านบาท มีที่ตั้งโครงการที่จังหวัดนนทบุรี
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้อนุมัติโครงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมการแพทย์ ของบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท คินเจน โฮลดิ้งส์ จำกัด (สัญชาติไทย) กับบริษัท เจเนไซน์ อิงค์ จำกัด (สัญชาติเกาหลีใต้) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยนำจุลินทรีย์มาผลิตสารออกฤทธิ์ชีวภาพที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาชีววัตถุที่จะมาทดแทนยาเคมี มูลค่าการลงทุนกว่า 400 ล้านบาท
สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการวิจัยและผลิตสารออกฤทธิ์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงจากประเทศเกาหลีใต้ เพื่อพัฒนาต่อยอดกระบวนการผลิตให้กับโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (NATIONAL BIOPHARMACEUTICAL FACILITY, NBF) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยบริษัทได้เสนอแผนความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่มหาวิทยาลัยอีกด้วย
อ่านต่อ:
- “เครื่องมือแพทย์” ตัวเลือกระดับ “ยูนิคอร์น” ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน และรอคอย
- กรณีศึกษา ธุรกิจ SME เครื่องมือแพทย์ โตก้าวกระโดด ทำอย่างไร
- พิษโควิดเล่นงาน เงินลงทุนลดฮวบ 17%